แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาในสำนวนแรกให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกในสำนวนที่สอง และในคดีของศาลอาญา กับให้นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกในสำนวนที่สาม และในคดีของศาลอาญา เมื่อสำนวนที่สองกับสำนวนที่สามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้จะยังไม่ถึงที่สุด ก็ไม่ใช่เหตุที่จะนำมานับโทษต่อไม่ได้ แต่คดีของศาลอาญาที่ขอให้นับโทษต่อนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ระบุรายละเอียดว่าศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2และที่ 3 หรือไม่ อย่างไรจึงไม่อาจนับโทษต่อจากคดีดังกล่าวได้
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาสำนวนที่สองและที่สามเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนที่สามเป็นจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ให้รวมพิจารณาและพิพากษาสำนวนแรกกับสำนวนที่สอง และที่สามเข้าด้วยกัน
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทำนองเดียวกัน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2ในคดีสำนวนที่สองและจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ 2038/2539 ของศาลอาญากับนับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีสำนวนที่สาม และจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 2038/2539 ของศาลอาญา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำนวนคดีแรกแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
ระหว่างพิจารณาพันเอกประพันธ์ พูลสุวรรณ ผู้เสียหายในสำนวนที่สองและที่สามยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนที่สองและที่สาม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพและจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว สำนวนแรกพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1) ถึง (5)ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน30,000 บาท และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 6 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และใหนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในสำนวนที่สองและของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ 2038/2539 ของศาลอาญา กับให้นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในสำนวนที่สามและของจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 2038/2539 ของศาลอาญา ส่วนสำนวนที่สองและที่สามพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(3) เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ในแต่ละสำนวนให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 60,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละกระทงละ 1 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 30,000 บาท รวม 2 กระทง คงปรับ 60,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง คงจำคุกคนละ 12 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การนับโทษต่อจะต้องมีคดีใดคดีหนึ่งถึงที่สุด เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดศาลชั้นต้นให้นับโทษจำเลยที่ 2และที่ 3 ต่อจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในสำนวนแรกให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในสำนวนที่สองและของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ 2038/2539 ของศาลอาญากับให้นับโทษจำเลยที่ 3ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในสำนวนที่สามและของจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 2038/2539 ของศาลอาญา เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนวนที่สองศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และสำนวนที่สาม ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 แม้ว่าคดีดังกล่าวที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม แต่คดีดังกล่าว ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ยังต้องถูกบังคับตามคำพิพากษาอยู่ จึงไม่ใช่เหตุที่จะนำมานับโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไม่ได้ ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ 2038/2539 ของศาลอาญาที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ระบุรายละเอียดว่าศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ อย่างไรจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏแก่ศาลให้รับฟังได้ว่าศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังนั้น จึงไม่อาจนับโทษต่อคดีดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้นับโทษต่อจึงไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอนับโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 2038/2539 ของศาลอาญาในสำนวนแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์