แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่จ่าย ย่อมถือว่าผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่จำต้องทวงถาม
ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยผิดนัดก็ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามป.พ.พ. มาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเพราะเหตุเกษียณอายุ โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามไม่เคยทวงถามค่าชดเชยจากจำเลยจำเลยยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทั้งสามออกจากงานเพราะเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง และไม่ใช่การเลิกจ้างลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง โดยต้องนำค่าครองชีพซึ่งถือเป็นค่าจ้างมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยให้แก่โจทก์ เมื่อไม่จ่ายถือได้ว่าจำเลยผิดนัดโดยไม่ต้องทวงถามต้องชำระดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยประเด็นความรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยของจำเลยว่า ‘…ตามกฎหมายค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่จ่ายย่อมถือว่าผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่จำต้องเรียกร้องทวงถาม ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยผิดนัดก็ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.