แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88 การแจ้งการประเมินภาษีการค้าต้องทำเป็นหนังสือไปยังผู้ประกอบการค้าระบุโดยชัดแจ้งว่าจะต้องเสียภาษีประเภทอะไร เป็นเงินเท่าใดเพื่อให้ผู้เสียภาษีมีโอกาสตรวจสอบและโต้แย้งโดยการอุทธรณ์การประเมินได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินโดยในช่องที่ให้กรอกจำนวนเงินค่าภาษีอากรตามที่ประเมินได้กรอกแต่จำนวนเงินในช่องอากรขาเข้า ส่วนในช่องภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลใส่เครื่องหมายขีดไว้ แสดงว่าไม่มียอดเงินค่าภาษีทั้งสองประเภท ดังกล่าวเช่นนี้ ถือว่าไม่ได้แจ้งยอดเงินที่ประเมินของภาษีการค้า และ ภาษีบำรุงเทศบาล แม้จะปรากฏว่ายอดเงินในช่องอากรขาเข้าจะมี ยอดเงินประเมินของภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลอยู่ด้วย ก็เป็น การ ประเมินโดยมิชอบ ถือว่าไม่มีการประเมิน ดังนั้น จำเลยจึงไม่มี อำนาจฟ้อง เรียกค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจากโจทก์.
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนศาลภาษีอากรกลางสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษา
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ได้ซื้อกระดาษสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตบัตรคอมพิวเตอร์จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศซึ่งเป็นสินค้าในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 48.01 ง. อยู่ในข่ายได้รับการลดหย่อนอัตราอากร แต่เจ้าพนักงานของจำเลยอ้างว่าสินค้าของโจทก์ไม่อยู่ในข่ายจะได้รับการลดอัตราภาษี ขอให้พิพากษาว่าสินค้าของโจทก์จัดอยู่ในพิกัด 48.01 ง. อัตราร้อยละ 30 ของราคาสินค้า ลดอัตราศุลกากรเหลือร้อยละ 10 ของราคาสินค้า ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.4/2518 และให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์จำนวน 3 ฉบับ มูลค่า 1,858,000 บาท
จำเลยให้การทั้งสองสำนวนและฟ้องแย้งสำนวนแรกว่า สินค้าของโจทก์มิใช่บัตรที่ใช้ในการส่งข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ต้องชำระอากรขาเข้าเต็มราคา โจทก์ต้องชำระอากรขาเข้าเพิ่มอีกร้อยละ 20ของราคาสินค้า ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับโจทก์รับผิดตามฟ้องแย้งชำระภาษีอากรและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 778,885.29 บาท แก่จำเลยและชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าร้อยละ 1 ต่อเดือน ของเงินค่าอากรที่ต้องนำมาชำระ 318,201 บาท คิดเป็นเงินเดือนละ 3,182.01 บาทตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2532 ถึงวันที่โจทก์ชำระเงินค่าอากรขาเข้าจำนวน 318,201 บาท เสร็จสิ้นแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้ทำการประเมินและแจ้งการประเมินอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลให้โจทก์ทราบโจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องเสียเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้ามาทั้งสองสำนวนจัดอยู่ในพิกัด 48.01 ง. อัตราอากรร้อยละ 30 ของราคาสินค้าลดอัตราอากรเหลือร้อยละ 10 ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.4/2518ให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารแหลมทอง จำกัด จำนวน6 ฉบับ รวมมูลค่า 1,858,000 บาท แก่โจทก์ ยกคำฟ้องแย้งของจำเลยสำหรับสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 291/2531 เสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรฟังข้อเท็จจริงว่า คดีฟังได้ว่ากระดาษที่โจทก์ผลิตขึ้นมิใช่บัตรคอมพิวเตอร์ กระดาษที่โจทก์นำเข้าจึงมิใช่ของเฉพาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตบัตรคอมพิวเตอร์ อันจะได้รับการลดอัตราอากรศุลกากรตามประกาศกระทรวงการคลัง ศก.4/2518อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น แล้ววินิจฉัยว่า ปัญหาว่า โจทก์ต้องรับผิดชำระเงินค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และเงินเพิ่มตามกฎหมาย สำหรับสินค้าที่โจทก์นำเข้าเที่ยวแรกตามฟ้องแย้งหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อโจทก์นำสินค้าเที่ยวนี้เข้า โจทก์ได้สำแดงว่าเป็นสินค้าที่จะได้ลดอัตราอากรตามบัญชีท้ายประกาศดังกล่าวและได้ชำระค่าภาษีอากรในอัตราที่ลดนั้น แต่มีปัญหาว่าสินค้าของโจทก์จะได้รับการลดอัตราอากรหรือไม่ ในระหว่างการตรวจสอบสินค้าของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย โจทก์ได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารสำหรับสินค้าเที่ยวแรกนี้ในวงเงิน 344,000 บาท แล้วรับสินค้าดังกล่าวไป ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าสินค้าของโจทก์ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้ลดอัตราอากรพนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ประเมินและมีหนังสือฉบับลงวันที่ 29กุมภาพันธ์ 2531 แจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย ล.19 ให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรในส่วนที่ขาด แต่โจทก์ไม่ชำระสำหรับค่าอากรขาเข้าเมื่อสินค้าของโจทก์ได้รับการลดอัตราอากรตามบัญชีท้ายประกาศดังกล่าว โจทก์จึงต้องชำระในส่วนที่ขาดอีก 318,201 บาท ตามหนังสือแจ้งการประเมินเอกสารหมาย ล.19 ระบุการประเมินค่าอากรขาเข้าเป็นเงิน 344,000 บาท เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือนี้ ต้องถือว่าโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินในส่วนนี้โดยชอบแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ชำระในกำหนดจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละยี่สิบของจำนวนค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่มเป็นเงิน 63,640.20 บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่มนับแต่วันที่22 กุมภาพันธ์ 2523 อันเป็นวันส่งมอบของจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ
ส่วนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลนั้น ปรากฏตามหนังสือแจ้งการประเมินเอกสารหมาย ล.19 เจ้าพนักงานประเมินมิได้ระบุยอดเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไว้โดยในช่องที่ให้กรอกจำนวนเงินค่าภาษีอากรตามที่ประเมินได้กรอกแต่จำนวนเงินในช่องอากรขาเข้า ส่วนในช่องภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลใส่เครื่องหมายขีดไว้แสดงว่าไม่มียอดเงินค่าภาษีทั้งสองประเภทดังกล่าว เท่ากับไม่ได้แจ้งยอดเงินที่ประเมินของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแม้จากทางนำสืบจะปรากฏว่ายอดเงินจำนวน 344,000 บาท ในช่องอากรขาเข้าจะมียอดเงินประเมินของภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลรวมอยู่ด้วย โดยค่าอากรขาเข้าจะต้องเสียเพิ่ม 318,201 บาทภาษีการค้าเป็นเงิน 25,713.19 บาท ภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน2,571.32 บาท แต่รวมแล้วเป็นเงิน 346,485.51 บาท เกินกว่ายอดเงินที่ปรากฏในหนังสือแจ้งการประเมิน การแจ้งการประเมินภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ให้ทำเป็นหนังสือไปยังผู้ประกอบการค้า จึงต้องแจ้งประเมินโดยชัดแจ้งว่าจะต้องเสียภาษีประเภทอะไร เป็นเงินเท่าไร เพื่อให้ผู้เสียภาษีมีโอกาสตรวจสอบและโต้แย้งโดยการอุทธรณ์การประเมินได้การแจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย ล.19 โดยมิได้ระบุยอดเงินที่ประเมินในภาษีทั้งสองประเภทนี้ จึงเป็นการแจ้งการประเมินโดยมิชอบ เท่ากับไม่มีการประเมิน ตามกฎหมายได้กำหนดขั้นตอนของเจ้าพนักงานประเมินในการตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษีแล้วให้อำนาจในการประเมินไว้ โดยต้องแจ้งการประเมินให้ผู้เสียภาษีทราบ เมื่อผ่านขั้นตอนต่าง ๆโดยชอบแล้ว จึงบังคับชำระหนี้ค่าภาษีหรือฟ้องศาลให้บังคับคดีแทนได้เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมิได้ทำตามขั้นตอนโดยชอบ จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์ต้องรับผิดเฉพาะเงินค่าภาษีอากรขาเข้าและเงินเพิ่มตามฟ้องแย้งดังกล่าวเมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าภาษีอากรเพิ่มในการนำสินค้าเข้าทั้ง 6เที่ยว จำเลยจึงมีสิทธิยึดหนังสือค้ำประกันทั้ง 6 ฉบับไว้ ไม่ต้องคืนให้โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินค่าอากรขาเข้าเพิ่มกับเงินเพิ่มรวม 381,841.20 บาท แก่จำเลย พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่ต้องเพิ่มจำนวน 318,201 บาทนับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2523 อันเป็นวันส่งมอบของ จนถึงวันที่นำเงินมาชำระให้จำเลยเสร็จ โดยให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน.