คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 358-360/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของคู่ความในกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ที่จะอุทธรณ์ได้. แล้วศาลอุทธรณ์รับพิจารณาและพิพากษาฟ้องอุทธรณ์ของคู่ความ. จึงเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา.ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์. ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา247 และ 243(1) ได้.

ย่อยาว

คดีทั้ง 3 สำนวนนี้ ศาลสั่งให้พิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยโจทก์ฟ้องว่านายบุ้นฮะ แซ่จึง ได้เช่าที่ดินส่วนหนึ่งของโจทก์แล้วปลูกสร้างอาคารพาณิชย์เลขที่ 1453, 1455, 1457, 1459 เมื่อปลูกสร้างเสร็จแล้วนายบุ้นฮะได้ยกกรรมสิทธิ์ในอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ และโจทก์ยินยอมให้นายบุ้นฮะนำอาคารดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงได้ภายในกำหนดอายุสัญญา 9 ปี นางประชุม เกษเจริญ นางลั้ง แซ่อึ้งและนางน้อย แซ่โค้ว จำเลยเป็นผู้เช่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 1453, 1457,1459, 1455 ของโจทก์ตามลำดับ โดยเช่าจากนายบุ้นฮะ และจำเลยได้ประกอบธุรกิจการค้าในอาคารเสมอมา ครั้นหมดอายุสัญญาเช่า โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไป จึงมอบอำนาจให้นายไพรัตน์ ตะโหนดมีหนังสือบอกเลิกการเช่ากับนายบุ้นฮะ และจำเลย ให้นายบุ้นฮะกับจำเลยส่งมอบอาคารภายใน 30 วัน จำเลยไม่ยอมรับหนังสือ โจทก์จึงปิดประกาศในอาคารดังกล่าวบอกเลิกการเช่าอีกครั้งหนึ่ง นายบุ้นฮะได้เลิกเกี่ยวข้องกับอาคารพิพาทแล้ว แต่จำเลยยังคงไม่ยอมส่งมอบและไม่ยอมออกจากอาคาร การที่จำเลยอยู่ในอาคารของโจทก์โดยละเมิดทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถให้บุคคลอื่นเช่าตามอัตราค่าเช่าที่จำเลยเสียเดือนละ 60 บาทต่อ 1 ห้อง ซึ่งนับถึงวันฟ้อง โจทก์ข้อคิดสำหรับนางประชุมกับนางน้อยคนละ 540 บาท และคิดกับนางลั้งจำเลย 1,080บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากตึกแถวที่พิพาทให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวข้างต้น และให้นางลั้งใช้ค่าเสียหายต่อไปนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบอาคารพิพาทคืนอีกเดือนละ 120 บาท ส่วนนางประชุม และนางน้อยให้ใช้เดือนละ 60 บาท จำเลยทั้งสามให้การอย่างเดียวกันใจความว่า นายบุ้นฮะจะเช่าตึกแถวจากพระพิชิตบัญชาการแล้วเอามาให้เช่าช่วงหรือไม่ จำเลยขอปฏิเสธแต่ขณะทำสัญญาเช่าทั้งนายบุ้นฮะและพระพิชิตบัญชาการอยู่รู้เห็นด้วยกันทั้งสองคนจำเลยถือว่าได้เช่าจากบุคคลทั้งสอง จำเลยเช่าอาคารพิพาทเพื่ออยู่อาศัยนายไพรัตน์ไม่มีอำนาจบอกเลิกสัญญาเช่าการบอกกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายไพรัตน์ได้รับมอบอำนาจจริง จึงมีอำนาจบอกเลิกสัญญาและฟ้องแทนโจทก์ และการบอกกล่าวการเลิกสัญญาเป็นการบอกกล่าวที่สมบูรณ์ โจทก์เสียหายตามฟ้อง นางประชุม นางลั้งประกอบการค้าในอาคารพิพาท ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 สำหรับนางน้อยนั้น เพียงแต่ขายผ้าสำเร็จรูปและรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าบ้าง ถือได้ว่านางน้อยเช่าอาคารพิพาทเพื่ออยู่อาศัย จึงได้รับความคุ้มครองตามที่ต่อสู้พิพากษาขับไล่นางประชุม นางลั้งและบริวารออกจากอาคารพิพาทให้นางประชุมใช้ค่าเสียหาย 540 บาท ส่วนนางลั้ง 1,080 บาท ส่วนค่าเสียหายจากวันฟ้องจนส่งมอบอาคารให้โจทก์นั้น ให้นางประชุมใช้เดือนละ 60 บาท นางลั้งเดือนละ 120 บาท เฉพาะคดีนางน้อยให้ยกฟ้องโจทก์ นางประชุม นางลั้งอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง พร้อมกับยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้รับรองอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่าไม่มีเหตุสมควรจะรับรอง ให้ยกคำร้องส่วนอุทธรณ์ศาลสั่งรับอุทธรณ์ สำหรับโจทก์อุทธรณ์ขอให้ขับไล่นางน้อย และใช้ค่าเสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน นางประชุม นางลั้งฎีกาขอให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกาขอให้ขับไล่นางน้อย การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า นางน้อยสืบไม่สมข้อต่อสู้ว่าได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน และอุทธรณ์ของนางประชุม นางลั้งที่ว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานการเป็นเจ้าของอาคารพิพาท ไม่มีอำนาจบอกเลิกสัญญาและควรฟังข้อเท็จจริงว่าอาคารพิพาทเป็นเคหะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์จำเลยล้วนแต่เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น โดยเหตุที่คดีทั้งสามสำนวนนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากห้องเช่าซึ่งมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายอีกไม่เกิน2,000 บาท ซึ่งจำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์หรือมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่าจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับรองให้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงแล้วกลับสั่งรับอุทธรณ์โดยไม่เข้าข้อยกเว้นของกฎหมายที่จะให้อุทธรณ์ได้ ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความ ศาลอุทธรณ์ไม่ชอบที่จะวินิจฉัยฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 และ 243(1).

Share