คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811-812/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้เดิมผู้อยู่ในที่ดินแปลงที่โจทก์รับโอนมาจะมีสิทธิใช้ทางในที่ดินของจำเลยในฐานะทางจำเป็นก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์ผู้รับโอนที่ดินจะได้สิทธิในทางเดินนั้นมาด้วยอย่างภารจำยอมเพราะทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินที่จะโอนไปพร้อมกับที่ดินด้วยทางจำเป็นเกิดขึ้นและมีอยู่ตามความจำเป็นเมื่อโจทก์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางนั้นเพราะโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งโจทก์สามารถใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นไม่ว่าจะเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1349หรือมาตรา1350

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเปิดทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ 32688 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์จังหวัดสุรินทร์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเปิดทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ 32688 ตำบลในเมืองอำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ กว้าง 3 เมตร จากที่ดินโฉนดเลขที่ 32683 (ที่ถูกคือโฉนดเลขที่ 32684) เลขที่ดิน 239ของโจทก์ไปจนถึงทางสาธารณะถนนเทศบาล 3 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนซีเมนต์บล็อกที่ก่อปิดทางพิพาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 28708 เลขที่ดิน 223 เป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่9 พฤษภาคม 2527 ได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็น 6 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 32684 เลขที่ดิน 239 โฉนดเลขที่ 32685เลขที่ดิน 240 โฉนดเลขที่ 32686 เลขที่ดิน 241 โฉนดเลขที่ 32687เลขที่ดิน 242 โฉนดเลขที่ 32688 เลขที่ดิน 243 และที่ดินคงเหลือแปลงเดิมโฉนดเลขที่ 28708 เลขที่ดิน 223 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2537จำเลยที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 32688 เลขที่ดิน 243ให้จำเลยที่ 2 รายละเอียดตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 และ 3ประกอบกับรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 23 มิถุนายน 2537 และ19 กรกฎาคม 2537
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ 32688 เลขที่ดิน 243 ได้ตามฟ้องหรือไม่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 32684เลขที่ดิน 239 ก็เพื่อขยายกิจการของตนเองที่กระทำอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12194 เลขที่ดิน 188 ซึ่งเชื่อมต่อกับที่ดินแปลงเลขที่ดิน 239 มิใช่ซื้อมาเพื่อต้องการเดินออกสู่ถนนสาธารณะผ่านที่ดินแปลงเลขที่ดิน 243 แต่อย่างใด เพราะโจทก์สามารถเดินออกสู่ถนนสาธารณะผ่านที่ดินแปลงเลขที่ดิน 188 ได้อยู่แล้วและจำเลยที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงเลขที่ดิน 243ให้จำเลยที่ 2 ไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้เห็นว่า แม้เดิมผู้อยู่ในที่ดินแปลงที่โจทก์รับโอนมาจะมีสิทธิใช้ทางในที่ดินของจำเลยในฐานะทางจำเป็นก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์ผู้รับโอนที่ดินจะได้สิทธิในทางเดินนั้นมาด้วยอย่างภารจำยอมเพราะทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินที่จะโอนไปพร้อมกับที่ดินด้วย ทางจำเป็นเกิดขึ้นและมีอยู่ตามความจำเป็น เมื่อโจทก์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางนั้น เพราะโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 12194 เลขที่ดิน 188 ด้วย ซึ่งโจทก์สามารถใช้ที่ดินแปลงนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336เมื่อที่ดินแปลงเลขที่ 188 มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 32684 เลขที่ดิน 239 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินแปลงเลขที่ 188 ก็ย่อมใช้ที่ดินแปลงเลขที่ 188 ที่โจทก์เป็นเจ้าของออกสู่สาธารณะได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 หรือมาตรา 1350 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเปิดทางจำเป็นนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์

Share