คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10260-10273/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่6เป็นเพียงกิจการร่วมค้าระหว่างจำเลยที่1และที่2และจำเลยที่6ได้จดทะเบียนในฐานะเป็นผู้ประกอบการต่อกรมสรรพากรเท่านั้นจำเลยที่6จึงไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลอันจะถูกฟ้องเป็นคดีนี้ได้ ศาลแรงงานวินิจฉัยจากพยานโจทก์ทั้งสิบสี่และจำเลยที่1และที่2แล้วฟังว่าจำเลยที่1และที่2เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบสี่จำเลยที่1และที่2อุทธรณ์อ้างว่าการวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางขัดแย้งกับข้อความในสัญญาจ้างที่โจทก์ทั้งสิบสี่อ้างส่งศาลเป็นการไม่ชอบเป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานซึ่งเป็นข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา54วรรคหนึ่ง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่16เมษายน2515ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงเรื่องการคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่14)ลงวันที่16สิงหาคม2536ข้อ46กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างและในวรรคสามกำหนดเรื่องระยะเวลาการจ้างซึ่งต้องกำหนดไว้แน่นอนส่วนวรรคสี่เป็นเรื่องกำหนดประเภทของงานที่สามารถจะทำสัญญาจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้วนายจ้างได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างที่เลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาที่ทำสัญญาจ้างไว้นั้นซึ่งมีงานอยู่3ประเภทแต่ในตอนท้ายของวรรคสี่ที่กำหนดประเภทของงานนั้นได้กำหนดไว้ด้วยว่าซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน2ปีคำว่างานนั้นย่อมหมายถึงงานทั้งสามประเภทที่กำหนดไว้นั่นเองจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน2ปีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน2ปีดังกล่าวจึงหาได้หมายถึงระยะเวลาการจ้างที่นายจ้างทำสัญญาจ้างลูกจ้างไม่หากหมายถึงระยะเวลาการจ้างก็ต้องระบุไว้ในวรรคสามซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้างการที่นำระยะเวลางานมากำหนดในวรรคสี่จึงทำให้เห็นได้ว่าหมายถึงระยะเวลาของงานทั้งสามประเภทนั่นเองเมื่องานที่จำเลยที่1และที่2ต้องกระทำการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันมีกำหนดระยะเวลาสามปีเกินกว่า2ปีแม้จะเป็นงานในโครงการเฉพาะหรืองานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวจำเลยที่1และที่2ก็ไม่ได้รับยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย คดีนี้ศาลแรงงานมีคำสั่งให้คดีทั้งสิบสี่สำนวนซึ่งมีโจทก์แต่ละคนเป็นโจทก์แต่ละสำนวนรวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันเมื่อรวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าเป็นคดีเดียวกันแล้วข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาจึงเป็นข้อเท็จจริงในสำนวนทั้งสิบสี่สำนวนศาลย่อมนำข้อเท็จจริงนั้นมาวินิจฉัยข้อกฎหมายเป็นคุณหรือโทษแก่คู่ความทั้งหมดในสำนวนได้โจทก์ทั้งสิบสี่เป็นคู่ความในสำนวนย่อมได้รับผลจากคำวินิจฉัยด้วยแม้โจทก์บางคนจะไม่ได้เข้าเบิกความก็ตามจึงชอบที่ศาลแรงงานพิพากษาให้มีผลถึงโจทก์อื่นที่ไม่ได้เข้าเบิกความ

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสี่สำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนเป็นโจทก์ที่ 1ถึงที่ 14 และเรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ทุกสำนวนเป็นจำเลยที่ 1ถึงที่ 6
โจทก์ทั้งสิบสี่สำนวนฟ้องโดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 แก้ไขคำฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่1 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาร่วมลงทุนต่อกันจดทะเบียนการค้าเป็นกิจการร่วมค้า จำเลยที่ 6 ทำสัญญาก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมให้แก่บริษัทระยองรีไฟน์เนอรี่ จำกัดมีจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นตัวแทนและผู้เข้าประกอบกิจการต่าง ๆของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 โจทก์ทั้งสิบสีเป็นลูกจ้างจำเลยทั้งหกมีตำแหน่ง ค่าจ้างและกำหนดวันจ่ายค่าจ้างตามที่ระบุในฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน ต่อมาเมื่อจำเลยทั้งหกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่โดยโจทก์ทั้งสิบสี่มิได้กระทำความผิด และมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ทั้งสิบสี่ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งหกเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสิบสี่ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน
จำเลยทั้งหกทั้งสิบสี่สำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสิบสี่ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5มิใช่นายจ้างของโจทก์ทั้งสิบสี่ โจทก์ทั้งสิบสี่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 6 ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนตามจำนวนที่ระบุในคำให้การของจำเลยทั้งหก จำเลยที่ 6 จ้างโจทก์ทั้งสิบสี่เข้าทำงานในโครงการสร้างโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทระยองรีไฟน์เนอรี่ จำกัดโจทก์ทั้งสิบสี่จึงเป็นลูกจ้างในโครงการเฉพาะของจำเลยที่ 6หรือเป็นการทำงานอันมีลักษณะครั้งคราว ซึ่งมีกำหนดการสิ้นสุดของงาน ซึ่งจำเลยที่ 6 ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่โดยกำหนดเวลาจ้างแน่นอนไม่เกิน 2 ปี และได้เลิกจ้างตามกำหนดจำเลยทั้งหกจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสิบสี่ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันพิจารณาโจทก์ทั้งสิบสี่ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5และสละข้อเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ศาลแรงงานกลางอนุญาตและสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6ชำระเงินค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสิบสี่เป็นเงิน 300,000 บาท 18,000 บาท69,000 บาท 40,000 บาท 90,000 บาท 45,000 บาท 126,000 บาท138,000 บาท 105,000 บาท 120,000 บาท 138,000 บาท 72,000 บาท150,000 บาท และ 183,000 บาท ตามลำดับ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 ทั้งสิบสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6อุทธรณ์ได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาร่วมลงทุนตามเอกสารหมาย จ.1 เพื่อเข้าทำสัญญาให้บริการในด้านวิศวกรรมการจัดหาและการก่อสร้างออกแบบโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมให้แก่บริษัทระยองรีไฟน์เนอรี่ จำกัด ในนามของจำเลยที่ 6 ตามสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.26 ซึ่งการก่อสร้างโรงงานตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดเวลา 3 ปี โจทก์ทั้งสิบสี่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 6 เข้าทำงานดังกล่าวตามหนังสือสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.5การจ้างโจทก์แต่ละคนมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไม่เกิน 2 ปีและจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่ตามกำหนดระยะเวลานั้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6ข้อแรกว่า จำเลยที่ 6 เป็นนิติบุคคลอยู่ในฐานะที่จะถูกต้องเป็นคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 6 เป็นเพียงกิจการร่วมค้าระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 และปรากฏตามเอกสารหมายเลข 4ท้ายคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2539 ก็ระบุฐานะของจำเลยที่ 6 เพียงว่า ได้จดทะเบียนในฐานะเป็นผู้ประกอบการต่อกรมสรรพากรเท่านั้น จำเลยที่ 6 จึงไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลอันจะถูกฟ้องเป็นคดีนี้ได้ ปัญหาต่อไปมีว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบสี่เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยจากพยานโจทก์ทั้งสิบสี่และจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบสี่ จำเลยที่ 1และที่ 2 อุทธรณ์อ้างว่าการวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางขัดแย้งกับข้อความในสัญญาจ้างที่โจทก์ทั้งสิบสี่อ้างส่งศาลเป็นการไม่ชอบเป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางซึ่งเป็นข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลแรงงานกลางสั่งรับอุทธรณ์ข้อนี้มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาต่อไปว่าโจทก์ทั้งสิบสี่เป็นลูกจ้างในโครงการเฉพาะหรือเป็นลูกจ้างในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดของงานแน่นอนไม่เกิน 2 ปี หรือไม่ โจทก์ทั้งสิบสี่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ เห็นควรวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1และที่ 2 อุทธรณ์ก่อนว่า ปัญหาว่าระยะเวลา 2 ปีนั้น หมายถึงระยะเวลาในการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันทั้งโครงการหรือระยะเวลาการจ้างที่ระบุในสัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2กับโจทก์ทั้งสิบสี่ เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14)ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2536 ข้อ 46 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง แต่ในวรรคสามกำหนดว่า “ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น” และวรรคสี่กำหนดว่า”การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้นซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง”จะเห็นได้ว่า ในวรรคสามกำหนดเรื่องระยะเวลาการจ้างซึ่งต้องกำหนดไว้แน่นอน ส่วนวรรคสี่เป็นเรื่องกำหนดประเภทของงานที่สามารถจะทำสัญญาจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไม่แน่นอนแล้ว นายจ้างได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างที่เลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาที่ทำสัญญาจ้างไว้นั้น ซึ่งมีงานอยู่ 3 ประเภทแต่ในตอนท้ายของวรรคสี่ที่กำหนดประเภทของงานนั้น ได้กำหนดไว้ด้วยว่าซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปีคำว่างานนั้นย่อมหมายถึงงานทั้งสามประเภทที่กำหนดไว้นั่นเองจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีดังกล่าวจึงหาได้หมายถึงระยะเวลาการจ้างที่นายจ้างทำสัญญาจ้างลูกจ้างไม่ หากหมายถึงระยะเวลาการจ้างก็ต้องระบุไว้ในวรรคสามซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้าง การที่นำระยะเวลางานมากำหนดในวรรคสี่จึงทำให้เห็นได้ว่าหมายถึงระยะเวลาของงานทั้งสามประเภทนั่นเอง เมื่องานที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องกระทำการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันมีกำหนดระยะเวลาสามปีเกินกว่า 2 ปีแม้จะเป็นงานในโครงการเฉพาะหรืองานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้รับยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่า งานที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับจ้างมากระทำเป็นงานในโครงการเฉพาะหรืองานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว ตามที่จำเลยที่ 1และที่ 2 อุทธรณ์ ดังนั้นโจทก์ทั้งสิบสี่จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย
ปัญหาต่อไปว่า คดีนี้คงมีแต่โจทก์ที่ 6 และที่ 14 เข้าเบิกความโดยโจทก์อื่นไม่ได้เข้าเบิกความด้วย ศาลจะนำข้อเท็จจริงที่ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 6 และที่ 14 ไปพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ให้โจทก์อื่นได้หรือไม่ เห็นว่าคดีนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้คดีทั้งสิบสี่สำนวน ซึ่งโจทก์แต่ละคนเป็นโจทก์แต่ละสำนวนรวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันเมื่อรวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าเป็นคดีเดียวกันแล้ว ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาจึงเป็นข้อเท็จจริงในสำนวนทั้งสิบสี่สำนวนศาลย่อมนำข้อเท็จจริงนั้นมาวินิจฉัยข้อกฎหมายเป็นคุณหรือโทษแก่คู่ความทั้งหมดในสำนวนได้ โจทก์ทั้งสิบสี่เป็นคู่ความในสำนวนย่อมได้รับผลจากคำวินิจฉัยด้วย แม้โจทก์บางคนจะไม่ได้เข้าเบิกความก็ตาม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้มีผลถึงโจทก์อื่นที่ไม่ได้เข้าเบิกความจึงชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบสี่เกี่ยวกับจำเลยที่ 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share