คำวินิจฉัยที่ 126/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชน ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ สำนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ ที่ ๓ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๓๓ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แต่เจ้าหน้าที่ทำการรังวัดเนื้อที่ขาดหายไป ๑ งาน ๘๐ ตารางวา และในการรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๓๐๖๔ ของผู้มีชื่อก็มีการรังวัดทับที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีทั้งแปลง อันเป็นการรังวัดที่ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ เป็นเหตุให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีสูญหายไปทั้งแปลง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๓๐๖๔ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และขั้นตอนต่าง ๆ ให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อน และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่ไปตามกระบวนการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้คดีนี้ผู้ฟ้องคดีจะมีคำขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๓๐๖๔ ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่เหตุแห่งการขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๐๓๓ ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๓๐๖๔ ของผู้มีชื่อ ดังนั้น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน แม้ผู้ฟ้องคดีตั้งรูปเรื่องในการฟ้องคดีโดยมีคำขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่ต้องสูญเสียที่ดินพิพาท ก็เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๐๓๓ ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๓๐๖๔ ของผู้มีชื่อ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share