แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๓ บัญญัติว่า ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาวางบทลงโทษผู้กระทำผิดต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญา ในคดีซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายในการที่ให้มีศาลทหารแยกต่างหากจากศาลพลเรือนก็เพื่อให้บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารที่กระทำความผิดต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญาต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีในอำนาจของศาลทหาร เพื่อวัตถุประสงค์ในการปกครองบังคับบัญชาและส่งเสริมอำนาจของผู้บังคับบัญชาทหาร อันเป็นการยึดหลักเขตอำนาจศาลเหนือตัวบุคคลผู้กระทำผิดซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด และเป็นการยกเว้นอำนาจศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลพลเรือนไม่ให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องโดยมุ่งหมายที่จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ ๑ ในข้อหาบุกรุก ลักทรัพย์ และจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่เมื่อกองบัญชาการกองทัพไทย จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๑ จึงมิใช่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่ศาลทหารจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าการที่จำเลยที่ ๒ อนุมัติคำสั่งให้โจทก์ที่ ๒ ออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลเพิกถอนคำสั่งให้ออกจากราชการของโจทก์ที่ ๒ และให้ชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากต้องออกจากราชการ เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองประสงค์จะดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งเป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามมาตรา ๑๓ ทั้งโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ในความผิดข้อหาให้การอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน โดยมีข้อเท็จจริงว่าขณะที่จำเลยที่ ๒ ให้การเป็นพยาน จำเลยที่ ๒ เกษียณอายุราชการแล้ว ดังนั้น จำเลยที่ ๒ จึงมิใช่บุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารในขณะกระทำผิด คดีนี้จึงเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ตามมาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนคดีจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางหรือศาลยุติธรรมอื่นก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมต่อไป