คำวินิจฉัยที่ 109/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า คดีนี้ นางสาวขนิษฐา เฒ่าอุดม ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทาน อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๙๑๐๔ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๗ ตารางวา พร้อมบ้าน ๑ หลัง ติดคลองส่งน้ำชลประทาน มีหลักเขตคลองส่งน้ำชลประทานของผู้ถูกฟ้องคดีปักอยู่นอกกำแพงบ้าน ต่อมาเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีนำหลักเขตคลองส่งน้ำชลประทานมาปักใหม่ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีบริเวณที่ระยะ ๒ เมตร จากจุดเดิม และทุบทำลายหลักเขตชลประทานเดิมออก ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีย้ายหลักเขตชลประทานดังกล่าวกลับที่เดิมและขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย รวม ๒๗๐,๘๔๒ บาท ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า เหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีทุบทำลายหลักเขตเดิมและปักหลักเขตใหม่เนื่องจากมีการซ่อมแซมเขตชลประทานดังกล่าว โดยเขตคลองชลประทานฝั่งขวาต้องกว้าง ๑๐ เมตรแต่หลักเขตเก่าที่ปักอยู่ติดกำแพงบ้านผู้ฟ้องคดี มีความกว้างประมาณ ๘ เมตร ซึ่งไม่ตรงกับระยะเขตคลองของโครงการ จึงต้องปักหลักเขตใหม่ที่ระยะ ๑๐ เมตร และทำลายหลักเขตเดิม เห็นว่า กรณีตามคำฟ้องเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามคำฟ้องนี้ เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม เมื่อพิจารณาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรคดีนี้กรมชลประทานผู้ถูกฟ้องคดี เป็นราชการส่วนกลาง ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบมาตรา ๑๙ (๓) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยที่การปักหลักเขตคลองส่งน้ำชลประทานเพื่อดำเนินการตามโครงการอ่างเก็บน้ำหนองสำโรง จังหวัดอุดรธานีเป็นการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี ในเรื่องการจัดให้ได้มาซึ่งน้ำ หรือกัก เก็บรักษา ควบคุม ส่ง ระบาย หรือจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร การพลังงาน การสาธารณูปโภคหรือการอุตสาหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทาน กฎหมายว่าด้วยคันและคูน้ำ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๗การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ได้มาซึ่งอ่างเก็บน้ำตามโครงการดังกล่าว เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทุบทำลายหลักเขตคลองส่งน้ำเดิมที่อยู่นอกรั้วบ้านของผู้ฟ้องคดีและปักหลักเขตใหม่เข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย กรณีตามคำฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีรับว่าได้ทำลายหลักเขตเดิมและปักหลักเขตใหม่ เพื่อให้เขตคลองส่งน้ำฝั่งขวามีความกว้าง ๑๐ เมตร โดยไม่ได้ให้การโต้แย้งว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของผู้ฟ้องคดี ทั้งยังให้การว่าเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ หลังจากฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อส่งช่างรังวัดมารังวัดสอบเขตที่ดินเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงในเรื่องแนวเขตของกรมชลประทานกับแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทำลายหลักเขตเดิมและปักหลักเขตใหม่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบแนวเขตที่ดินอย่างชัดแจ้งนั้น เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ทั้งผู้ฟ้องคดีชี้แจงข้อเท็จจริงตามคำสั่งศาลปกครองอุดรธานี ตามข้อ ๑๗ ของข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ต้องการพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใด แต่ต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

Share