คำวินิจฉัยที่ 5/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นลูกจ้างของสำนักงานเทศบาลตำบล พ. จำเลย ยื่นฟ้องจำเลย ซึ่งมีฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ และเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ขอให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการที่ลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งคนสวน สังกัดกองช่าง ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขับรถชนโจทก์ซึ่งกำลังตัดเก็บหญ้าบริเวณเกาะกลางถนนได้รับอันตรายสาหัส กรณีจึงเป็นการฟ้องขอให้หน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ อย่างไรก็ตาม ก่อนการฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ยื่นคำขอให้จำเลยพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดแก่โจทก์แล้ว ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แต่จำเลยปฏิเสธ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า เมื่อหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งเช่นใดแล้ว หากผู้เสียหายยังไม่พอใจผลการวินิจฉัย ให้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งผลการวินิจฉัย และมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติว่า เมื่อได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นแล้ว สิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามมาตรา ๑๑ ให้ถือว่าเป็นสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยเมื่อพิจารณามาตรา ๑๐๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ที่บัญญัติว่า สิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ในคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าเป็นสิทธิฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลปกครองเปิดทำการแล้ว และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการกระทำละเมิดในการขับรถยนต์ของทางราชการเพื่อเก็บหญ้าซึ่งลูกจ้างของเทศบาลตัดแต่งบริเวณเกาะกลาง อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไป หาใช่เป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share