แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรและบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์มาแล้ว 6 คดี หลังจากพ้นโทษทั้งหกคดีแล้ว จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาสิบปีนับแต่จำเลยพ้นโทษ ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุไว้ ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมิใช่ข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น จึงไม่อยู่ในบังคับที่ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานลักทรัพย์และรับว่าเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษตามฟ้องจริง โจทก์จึงไม่ต้องนำพยานเข้าสืบ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพดังกล่าวได้ ทั้งเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำให้การของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ กับเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษในคดีอื่นๆ อีก 6 คดี ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์และจำเลยกระทำผิดในขณะที่มีอายุเกินกว่าสิบแปดปี จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้ว ภายในเวลาสิบปีจำเลยมากระทำผิดคดีนี้ฐานลักทรัพย์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนอีก จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นจะนำมาพิจารณากักกันจำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41, 93, 335, 357 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอให้ใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยโดยกักกันจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่าสามปีและไม่เกินสิบปี
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์ และรับว่าเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษตามฟ้องจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) วรรคแรก จำคุก 2 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 (ที่ถูก มาตรา 93 (13)) เป็นจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน การกระทำของจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย เมื่อพ้นโทษคดีนี้แล้วให้ส่งตัวจำเลยไปกักกันไว้มีกำหนดเวลา 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับว่า ขอให้รอการลงโทษจำคุก โดยคุมความประพฤติของจำเลยหรือให้ทำงานบริการสาธารณะ หรือใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยอื่นแทนการกักกันจำเลย ซึ่งเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการลงโทษของศาลอุทธรณ์ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่จำเลยฎีกาทำนองว่าจำเลยมิได้มีเจตนากระทำความผิดและโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้ศาลสิ้นสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวอ้างขึ้นใหม่ และขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาเช่นกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อฎีกาของจำเลยต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวมา และศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาจำเลยแล้ว จึงไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าวให้จำเลยทราบแต่อย่างใด
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์และให้กักกันจำเลยโดยไม่สืบพยานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร และบรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์มาแล้วอีก 6 คดี ได้แก่ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 361/2560 และ 362/2560 ของศาลแขวงปทุมวัน คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1419/2557 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2875/2558 อ.2876/2558 และ อ.2877/2558 ของศาลแขวงดอนเมือง หลังจากพ้นโทษทั้งหกคดีแล้ว จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาสิบปีนับแต่จำเลยพ้นโทษ ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 (8) เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมิใช่ข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น จึงไม่อยู่ในบังคับที่ศาลต้องฟังโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานลักทรัพย์และรับว่าเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษตามฟ้องจริง โจทก์จึงไม่ต้องนำพยานเข้าสืบว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพดังกล่าวได้ ทั้งเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำให้การของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดคดีนี้กับเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษในคดีอื่นๆ อีก 6 คดี ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์และจำเลยกระทำผิดในขณะที่มีอายุเกินกว่าสิบแปดปี จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้ว ภายในเวลาสิบปีจำเลยมากระทำผิดคดีนี้ฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนอีก จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นจะนำมาพิจารณากักกันจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 (8) ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน