คำวินิจฉัยที่ 23/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้อง บริษัทเจ็มมินาย ทรานสปอร์ต แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ที่ ๑ นาย ส. ที่ ๒ บริษัท อ. จำกัด ที่ ๓ จำเลย และศาลเรียกบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดี กรณีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายสินค้าจำพวกบัตรอาร์เอฟไอดีการ์ด บัตรสมาร์ทการ์ด บัตรพีวีซี พร้อมด้วยการพิมพ์สี่สี และการพิมพ์ภาพสามมิติ (Hologram) ที่พิพาทเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ… คดีนี้ แม้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งเรียกบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดี และจำเลยร่วมเคยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ และพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ต่อมาได้ผ่านการแปลงสภาพตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจให้กลายมาเป็นบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยร่วมจึงมิได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติอีกต่อไป จำเลยร่วมจะเป็นหน่วยงานทางปกครองได้ก็ต่อเมื่อจำเลยร่วมได้กระทำกิจการบางอย่างตามที่กฎหมายมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้สัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเอกชนกับเอกชนด้วยกัน แม้จำเลยทั้งสามร่วมกันสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์หลายรายการเพื่อนำไปใช้ในกิจการรับจ้างบริหารและจัดการด้านการขนส่งสินค้าภายในเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของจำเลยร่วม แต่สัญญาพิพาทเป็นสัญญาระหว่างเอกชนด้วยกันมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายทางแพ่งทั่วไปและเป็นสัญญาที่แยกเป็นเอกเทศ ไม่ใช่สัญญาอุปกรณ์ของสัญญาระหว่างจำเลยทั้งสามกับจำเลยร่วม ดังนั้น สัญญาซื้อขายที่พิพาทจึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีพิพาทตามสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์เป็นการปฏิบัติผิดสัญญาทางแพ่ง สัญญาพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จึงเป็นสัญญาทางแพ่ง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share