แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 บัญญัติว่า ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์…ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ดังนั้น การกระทำความผิดฐานรับของโจรจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีซึ่งพนักงานอัยการโจทก์ฟ้อง ท. เป็นจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ว. ผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.10119/2560 แล้ว ดังนั้น ของกลางที่จำเลยทั้งสองได้มาจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 357 ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุก คนละ 1 ปี ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่เจ้าของที่แท้จริง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า รถกระบะ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บต 6366 มหาสารคาม เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นายวัชรินทร์ ผู้เสียหายเป็นผู้เช่าซื้อและครอบครองขณะเกิดเหตุ ผู้เสียหายมาสักยันต์ให้นายทวีศักดิ์ และพักที่หอพักของนายทวีศักดิ์ นายทวีศักดิ์เป็นพนักงานขับรถของบริษัทโคมิดะ ทำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8 ถึง 17 นาฬิกา วันเสาร์ทำงานครึ่งวันและหยุดวันอาทิตย์ จำเลยทั้งสองและนายสมศักดิ์ประกอบอาชีพขับรถรับจ้างสองแถวบริเวณสถานีอนามัย เส้นทางเคหะร่มเกล้า วินรถสองแถวจอดอยู่ที่ตลาดเกรียงไกร จำเลยที่ 2 ขับรถสองแถวมาประมาณ 5 ปี ผู้เสียหายพักที่ห้องพักของนายทวีศักดิ์และสักยันต์ให้นายทวีศักดิ์ตั้งแต่วันที่ 16 ถึง 18 ธันวาคม 2559 โดยขับรถกระบะดังกล่าวจอดหน้าหอพักที่นายทวีศักดิ์พักซึ่งอยู่ตรงข้ามโรงเรียน วันที่ 18 ธันวาคม 2559 ในช่วงเย็นผู้เสียหายไม่พบรถกระบะของตนจึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจนครบาลร่มเกล้า เจ้าพนักงานตำรวจพบรถกระบะจอดบริเวณหน้าหอพักนายทวีศักดิ์ พบนายทวีศักดิ์อยู่ในรถกระบะจึงนำตัวนายทวีศักดิ์และรถกระบะไปที่สถานีตำรวจนครบาลร่มเกล้า ตรวจพบว่าเครื่องเสียงรถยนต์พร้อมลำโพงของกลางหายไป นายทวีศักดิ์รับว่านำของกลางไปขายที่ตลาดเกรียงไกร จากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจพบของกลางที่บ้านของจำเลยที่ 1 เห็นว่า ความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 บัญญัติว่า ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์…ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ดังนั้น การกระทำความผิดฐานรับของโจรจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีซึ่งพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายทวีศักดิ์เป็นจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.10119/2560 แล้ว ดังนั้น ของกลางที่จำเลยทั้งสองได้มาจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร
พิพากษายืน