แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองไว้ แต่หน่วยงานทางปกครองนั้นละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่นั้น จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือผู้ฟ้องคดี คดีนี้ การรถไฟแห่ง ประเทศไทย จำเลยที่ ๒ กระทรวงคมนาคม จำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด จำเลยที่ ๑ แม้จะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เมื่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะด้านขนส่ง มอบหมายให้จำเลยที่ ๑ จัดทำบริการสาธารณะด้านขนส่งผู้โดยสารในกิจการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งเป็นการดำเนินกิจการทางปกครอง จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครอง อันเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยที่มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ กำหนดอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ในการดำเนินกิจการรถไฟและธุรกิจซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ และมาตรา ๙ (๔) กำหนดให้จำเลยที่ ๒ จัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยการใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟ จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ในการจัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยไว้ และกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จำเลยที่ ๔ มีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยไม่ดำเนินการติดตั้งเครื่องกั้นชานชาลาตา,มาตรฐานสากลทุกสถานี ไม่จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำชานชาลาให้เพียงพอต่อจำนวนผู้โดยสาร ระบบหยุดรถไฟฟ้าฉุกเฉินมีไม่เพียงพอและติดตั้งในจุดที่ผู้โดยสารทั่วไปไม่ทราบ เป็นเหตุให้บุตรสาวของโจทก์ทั้งสองตกลงไปในรางรถไฟฟ้าและถูกรถไฟฟ้าแล่นทับบุตรสาวของโจทก์ทั้งสองจนถึงแก่ความตาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง ติดตั้งเครื่องกั้นชานชาลา จัดหาเจ้าหน้าที่และพนักงานรักษาความปลอดภัย ติดตั้งเครื่องหมายและปุ่มสัญญาณเตือนภัยและอุปกรณ์หยุดหรือห้ามรถไฟฟ้า รวมทั้งกำหนดตำแหน่งรอขึ้นลงรถไฟฟ้าเฉพาะสำหรับเด็ก คนชรา และสตรีมีครรภ์ในทุกสถานี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง