แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ผู้ถูกฟ้องคดี ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ ๒๔/๒๕๖๑ เรื่อง คำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบการโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่ขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๑ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการออกคำสั่งที่ ๒๔/๒๕๖๑ จะเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งถือเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่เมื่อพิจารณาเหตุแห่งการฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ที่ดินพิพาทที่นาง ส. นำไปขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) นาย อ. ครอบครองมาก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งเป็นการครอบครองและทำประโยชน์อยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) และยังมิได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และเมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๘ วรรคสาม ที่กำหนดให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาว่าผู้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินเป็นผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับหรือไม่ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องออกโฉนดที่ดินไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดของศาลยุติธรรม ดังนั้น แม้ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ ๒๔/๒๕๖๑ เรื่อง คำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบการโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่ขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน แต่ก็เพื่อให้มีผลเป็นการทำลายคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่วินิจฉัยสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทว่าเป็นของนาง ส. ซึ่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติให้ต้องอาศัยคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดของศาลยุติธรรม ทั้งยังปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องนาง ส. และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ พ. ๒๘๒๖/๒๕๖๑ เพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาทแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน และเป็นส่วนหนึ่งของคดีหมายเลขดำที่ พ. ๒๘๒๖/๒๕๖๑ ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม