แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้ประกอบการร้านคาราโอเกะ แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยมิได้อยู่ในร้าน แต่จำเลยในฐานะเจ้าของร้านซึ่งประกอบกิจการร้านคาราโอเกะย่อมมีหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลและควบคุมการดำเนินกิจการของร้านให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและไม่ผิดกฎหมาย การที่จำเลยเป็นผู้ติดต่อให้เจ้าของตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญที่มีงานเพลงซึ่งได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาติดตั้งที่ร้านคาราโอเกะของจำเลย จำเลยย่อมอยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบได้ว่างานเพลงที่ติดตั้งในหน่วยความจำของตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ จำเลยจึงรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานดังกล่าวทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อมีการเปิดเพลงดังกล่าวจากตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญโดยแบ่งปันผลประโยชน์กัน จึงเป็นความผิดสำเร็จ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนในงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเพื่อหากำไรอันเป็นการกระทำเพื่อการค้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 31, 69, 70, 75, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบของกลาง และสั่งจ่ายเงินค่าปรับละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง คืนของกลางให้แก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า บริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์งานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุประกอบด้วยลำดับภาพและเสียงแบบคาราโอเกะในเพลง “ที่หนึ่งไม่ไหว” ของศิลปินวง “ไอน้ำ” โดยมีการโฆษณางานเพลงดังกล่าวครั้งแรกในราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานยึดตู้คาราโอเกะ 1 ตู้ สมุดรายชื่อเพลง 1 เล่ม และไมโครโฟน 2 ตัว เป็นของกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเพื่อหากำไรอันเป็นการกระทำเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ตามฟ้อง หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีจ่าสิบตำรวจสันทัด ผู้จับกุม ซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่าขณะไปที่ร้าน “น้องไอย์ คาราโอเกะ” พร้อมกับนายจารุสิทธิ์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงของผู้เสียหาย พบว่ามีการเปิดเพลง “ที่หนึ่งไม่ไหว” ผ่านทางตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญของกลาง โดยผู้รับมอบอำนาจช่วงของผู้เสียหายตรวจสอบแล้วว่าเพลงดังกล่าวมีการทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพยานโจทก์ปากผู้จับกุมเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์รู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ควรระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย เชื่อว่าพยานเบิกความไปตามความเป็นจริง ทั้งโจทก์มีร้อยตำรวจเอกวิเชียร พนักงานสอบสวน มาเบิกความยืนยันว่าได้สอบคำให้การของผู้รับมอบอำนาจช่วงของผู้เสียหายไว้หลังเกิดเหตุ โดยมีข้อเท็จจริงของเหตุการณ์เป็นลำดับ วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้จับกุมทุกประการ เมื่อรับฟังประกอบกันกับภาพถ่ายสภาพร้านที่เกิดเหตุและภาพจอมอนิเตอร์ขณะเปิดเล่นเพลงคาราโอเกะของผู้เสียหายทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ส่วนทางนำสืบของจำเลยซึ่งยอมรับว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบการร้านคาราโอเกะ แต่โต้แย้งว่าตนไม่อยู่ในร้านขณะเกิดเหตุ จำเลยเซ้งร้านให้บุคคลอื่นไปแล้ว และตู้เพลงคาราโอเกะของกลางไม่ใช่ของจำเลยนั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีการเปิดเพลงซึ่งทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายผ่านทางตู้เพลงคาราโอเกะของกลาง โดยคิดค่าบริการจากลูกค้าเพลงละ 5 บาท อันเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเพื่อหากำไรอันเป็นการกระทำเพื่อการค้า
คงมีปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยเป็นผู้ประกอบการร้านคาราโอเกะขณะเกิดเหตุ และจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานเพลงดังกล่าวทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า จ่าสิบตำรวจสันทัด ผู้จับกุม เบิกความว่า ขณะเข้าจับกุมได้สอบถามผู้ดูแลร้านว่าใครเป็นเจ้าของร้าน ผู้ดูแลร้านได้นำใบอนุญาตประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ที่ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตมาแสดง ซึ่งจำเลยเองก็เบิกความตอบคำถามค้านยอมรับว่า ตนเองประกอบกิจการร้าน “น้องไอย์ คาราโอเกะ” จริง และใบอนุญาตดังกล่าวจะติดไว้ที่ร้านตลอดเวลา เพียงแต่อ้างว่าก่อนเกิดเหตุได้ให้ผู้หญิงชื่อฝนเช่าร้านไป และมีการจ่ายเงินสดให้จำเลย 90,000 บาท ส่วนค่าเช่าตึกผู้หญิงชื่อฝนต้องไปจ่ายกับเจ้าของตึกโดยตรง แต่จำเลยก็ไม่ได้นำเจ้าของตึกมาเบิกความยืนยันถึงความมีตัวตนของผู้หญิงชื่อฝนว่าเป็นผู้ชำระค่าเช่าต่อมา อีกทั้งจำเลยก็ไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริงของผู้มาเช่าหรือเซ้งกิจการต่อทั้งที่มีราคาสูงถึง 90,000 บาท อันเป็นการผิดปกติวิสัยในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายสฤษดิ์ พยานจำเลย ตอบคำถามค้านว่าพยานเป็นเจ้าของตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญของกลางและเป็นผู้นำตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าวไปตั้งที่ร้าน “น้องไอย์ คาราโอเกะ” ตามที่จำเลยติดต่อมา โดยเงินที่ได้จากการหยอดเหรียญทางร้านจะได้ 30 เปอร์เซ็นต์ พยานจะได้ 70 เปอร์เซ็นต์ ต่อมามีผู้หญิงชื่อฝนเซ้งร้านต่อจากจำเลย โดยไม่ปรากฏว่าพยานเคยพบเจอผู้หญิงที่ชื่อฝนตามที่จำเลยกล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อธุรกิจร้านคาราโอเกะเป็นกิจการที่เป็นอาชีพของจำเลยตามที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 ซึ่งเป็นการอนุญาตให้เฉพาะตัว หากจำเลยไม่ประกอบกิจการดังกล่าวแล้วจำเลยต้องไม่นำใบอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์มาติดตั้งไว้ที่ร้านที่จำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยยังคงเป็นผู้ประกอบการร้าน “น้องไอย์ คาราโอเกะ” แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยมิได้อยู่ในร้าน แต่จำเลยในฐานะเจ้าของร้านซึ่งประกอบกิจการร้านคาราโอเกะย่อมมีหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลและควบคุมการดำเนินกิจการของร้านให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและไม่ผิดกฎหมาย การที่จำเลยเป็นผู้ติดต่อให้เจ้าของตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญที่มีงานเพลงซึ่งได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาติดตั้งที่ร้าน “น้องไอย์ คาราโอเกะ” ของจำเลย จำเลยย่อมอยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบได้ว่างานเพลงที่ติดตั้งในหน่วยความจำของตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ จำเลยจึงรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานดังกล่าวทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อมีการเปิดเพลงดังกล่าวจากตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญโดยแบ่งปันผลประโยชน์กัน จึงเป็นความผิดสำเร็จ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนในงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเพื่อหากำไรอันเป็นการกระทำเพื่อการค้า ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง จำคุก 3 เดือน ปรับ 60,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน ปรับ 40,000 บาท โดยให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ริบของกลาง หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่)