คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15105/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจึงเป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นโดยชัดแจ้ง
โจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นบุตรของ ก. และ ช. บุคคลทั้งสองประกอบอาชีพค้าขายดำเนินกิจการร้านกุหลาบขาวตั้งแต่ปี 2475 และดำเนินกิจการร้านกุหลาบแดงซึ่งเดิมชื่อร้านกุ่ยเชียง มีที่ตั้งร้านอยู่บ้าน เลขที่ 2 – 4 อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร โดยเริ่มประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2494 ก่อนจะแจ้งย้ายสถานที่ประกอบกิจการมาตั้งอยู่อาคารพาณิชย์เลขที่ 95/86 เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และเปลี่ยนชื่อร้านเป็นร้านกุหลาบแดง ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2508 โดย ก. เป็นผู้ดูแลกิจการร้านค้าทั้งสองและเมื่อ ก. เสียชีวิต ช. เป็นผู้ดูแลแทนจนกระทั่งเจ็บป่วยจึงให้จำเลยเป็นผู้ดูแล โดย ก. และ ช. ให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรทุกคนในฐานะบิดามารดากระทำต่อบุตร โดยโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ รวมทั้งจำเลยหากมีเวลาว่างจะมาช่วยงาน ก. และ ช. ที่ร้านค้าทั้งสอง และเมื่อบุตรแต่ละคนมีรายได้จากอาชีพการงานอื่นจะส่งเงินมาช่วยจุนเจือบิดามารดาอันเป็นการปฏิบัติตนในฐานะบุตรที่มีความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี ไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่า ก. และ ช. ตกลงร่วมค้าขายกับโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ โดยให้โจทก์ทั้งสามลงแรงเป็นหุ้น และประสงค์จะแบ่งเงินกำไรกันหรือหากขาดทุน โจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ ต้องรับผิดชอบอย่างไร ก. และ ช. ไม่เคยแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการร้านค้าทั้งสองให้แก่บุตรคนใดคนหนึ่ง แต่หากบุตรคนใดมีความเดือดร้อนต้องการใช้เงินจึงจะไปขอเบิกจาก ก. และ ช. การที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่ามีการช่วยงานที่ร้านค้าทั้งสองหรือแม้แต่แบ่งเงินรายได้บางส่วนให้แก่ ช. หลังจาก ก. เสียชีวิตแล้วจึงไม่เป็นการลงหุ้น คงเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างบิดามารดากับบุตร หาทำให้กิจการของบิดามารดาเป็นกิจการของครอบครัวอันจะถือว่าเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างบุตรกับบิดามารดาโดยปริยายไม่ โจทก์ทั้งสามและจำเลยรวมทั้งบุตรคนอื่น ๆ จึงไม่เป็นหุ้นส่วนในร้านค้าทั้งสองกับ ก. และ ช. ตามบทกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์ทั้งสามจะมาฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนร้านค้าทั้งสองและขอแบ่งส่วนผลกำไรจากการดำเนินกิจการร้านค้าทั้งสองตั้งแต่ครั้งที่ ก. ยังมีชีวิตอยู่ในฐานะเป็นหุ้นส่วนตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้จำเลยเลิกห้างหุ้นส่วนร้านค้าทั้งสองแห่งและตั้งให้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้ชำระบัญชี หรือให้กำจัดจำเลยออกจากการเป็นหุ้นส่วนแทนการเลิกห้าง ให้แบ่งผลกำไรแก่โจทก์ทั้งสาม 32,850,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยถึงแก่ความตาย นางสาวนงนุชยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า นายกุ่ยลิ้ม และนางชั้น หรือนางชั้ง อยู่กินเป็นสามีภริยามีบุตรด้วยกัน 11 คน แต่มีชีวิตอยู่เพียง 8 คน คือ นางกิ่งรัก นายอุดม จำเลย (เดิมชื่อนายเก่งเหลียง) นางสาวพัชนี นายวิรัตน์ โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 นายกุ่ยลิ้มและนางชั้นถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2517 และวันที่ 12 สิงหาคม 2538 ตามลำดับ โดยไม่มีผู้จัดการมรดกของบุคคลทั้งสอง เมื่อปี 2475 นายกุ่ยลิ้มเช่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 57 (เดิมเป็นบ้านเลขที่ 322) เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร จากนางปาน เปิดเป็นร้านขายสินค้าจำพวก ผ้าฝ้าย เสื่อน้ำมัน (พรมน้ำมัน) ใช้ชื่อร้านกุหลาบขาว ต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2504 นายละล่อง ผู้จัดการมรดกของนางปานจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1109 อำเภอพระนคร (ในพระนคร) จังหวัดพระนคร พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 57 โดยระบุว่าขายให้แก่จำเลยและนายวิรัตน์ ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2529 นายวิรัตน์ยกที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของตนให้แก่นางสาวพัชนี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2500 นางชั้นยื่นคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ประกอบการค้าเป็นร้านขายสินค้าจำพวกผ้าฝ้ายและพรมน้ำมันใช้ชื่อว่า “กุ่ยเชียง” มีที่ตั้งร้านอยู่บ้านเลขที่ 2 – 4 อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร โดยแจ้งว่าเริ่มประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2494 ต่อมานางชั้นเช่าที่ดินของวัดราชบุรณราชวรวิหาร และเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2507 นางชั้นออกเงินช่วยค่าก่อสร้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดย่งเตียงก่อสร้างเพื่อทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของวัดราชบุรณราชวรวิหาร เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ นางชั้นทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 95/86 เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2508 นางชั้นยื่นคำขอต่อนายทะเบียนพาณิชย์แจ้งย้ายที่ตั้งร้านค้ามาอยู่ที่อาคารพาณิชย์ดังกล่าวโดยเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “กุหลาบแดง” ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2508 หลังจากนายกุ่ยลิ้มถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2518 จำเลยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนพาณิชย์แจ้งขอยกเลิกการประกอบธุรกิจของนายกุ่ยลิ้มตั้งแต่วันดังกล่าว นางชั้นยื่นคำขอต่อนายทะเบียนพาณิชย์แจ้งย้ายสถานที่ประกอบธุรกิจร้านกุหลาบแดงมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 57 อันเป็นที่ตั้งร้านกุหลาบขาวและเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “กุหลาบขาว” ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2518 ส่วนจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนประกอบการค้าเป็นร้านขายสินค้าจำพวกผ้าฝ้ายและพรมน้ำมันใช้ชื่อว่า “กุหลาบแดง” มีที่ตั้งร้านอยู่อาคารพาณิชย์เลขที่ 95/86 โดยแจ้งว่าเริ่มประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2518 และเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2527 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนประกอบการค้าเป็นร้านขายสินค้าจำพวกผ้าฝ้ายและพรมน้ำมันใช้ชื่อว่า “กุหลาบขาว” มีที่ตั้งร้านอยู่อาคารพาณิชย์เลขที่ 57 โดยแจ้งว่าเริ่มประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2527 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2527 นางชั้นยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการร้านกุหลาบขาวตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2527 อ้างเหตุว่าทำการค้าขาดทุน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการร้านกุหลาบขาวตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2529 อ้างเหตุว่าประกอบกิจการค้าขาดทุน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยในฐานะผู้จัดการและนายสินชัย บุตรจำเลยเป็นหุ้นส่วนยื่นคำขอจดทะเบียนประกอบการค้าเป็นร้านขายสินค้าจำพวกผ้าฝ้าย พรมน้ำมันและผ้าพลาสติกใช้ชื่อว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญกุหลาบขาว (คณะบุคคล)” อันเป็นห้างหุ้นส่วนไม่จดทะเบียนมีที่ตั้งร้านอยู่อาคารพาณิชย์เลขที่ 57 โดยแจ้งว่าเริ่มประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529 ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2535 จำเลยในฐานะผู้จัดการห้างหุ้นส่วนดังกล่าวแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนดังกล่าวด้วยการเพิ่มชื่อโจทก์ที่ 2 เข้ามาเป็นหุ้นส่วน โดยระบุว่าเข้ามาเป็นหุ้นส่วนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2540 จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 95/86 กับวัดราชบุรณราชวรวิหารเพื่อทำการค้าเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันทำสัญญา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นหุ้นส่วนกันในกิจการร้านกุหลาบขาวและร้านกุหลาบแดงตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า ร้านค้าทั้งสองแห่ง บิดามารดาตั้งขึ้นและเป็นผู้ออกเงินซื้อเพื่อให้บุตรทุกคนเข้าเป็นหุ้นส่วนในลักษณะธุรกิจครอบครัว (กงสี) โดยบิดาเป็นผู้จัดการร้านทั้งสอง เมื่อบิดาเสียชีวิต มารดาและพี่น้องทุกคนให้จำเลยเป็นผู้จัดการร้านทั้งสองแทน เมื่อมารดาเสียชีวิต โจทก์ทั้งสามจึงมีฐานะเป็นหุ้นส่วนในร้านทั้งสองมีสิทธิขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนนำเงินรายได้จากร้านทั้งสองมาแบ่งตามส่วนที่โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับ เห็นว่า การเป็นหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจึงเป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นโดยชัดแจ้ง ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นบุตรของนายกุ่ยลิ้มและนางชั้น บุคคลทั้งสองประกอบอาชีพค้าขายดำเนินกิจการร้านกุหลาบขาวตั้งแต่ปี 2475 และดำเนินกิจการร้านกุหลาบแดงซึ่งเดิมชื่อร้านกุ่ยเชียง มีที่ตั้งร้านอยู่บ้านเลขที่ 2 – 4 อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร โดยเริ่มประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2494 ก่อนจะแจ้งย้ายสถานที่ประกอบกิจการมาตั้งอยู่อาคารพาณิชย์เลขที่ 95/86 เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และเปลี่ยนชื่อร้านเป็นร้านกุหลาบแดง ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2508 โดยนายกุ่ยลิ้มเป็นผู้ดูแลกิจการร้านค้าทั้งสองและเมื่อนายกุ่ยลิ้มเสียชีวิต นางชั้นเป็นผู้ดูแลแทนจนกระทั่งเจ็บป่วยจึงให้จำเลยเป็นผู้ดูแล โดยนายกุ่ยลิ้มและนางชั้นให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรทุกคนในฐานะบิดามารดากระทำต่อบุตร โดยโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ รวมทั้งจำเลยหากมีเวลาว่างจะมาช่วยงานนายกุ่ยลิ้มและนางชั้นที่ร้านค้าทั้งสอง และเมื่อบุตรแต่ละคนมีรายได้จากอาชีพการงานอื่นจะส่งเงินมาช่วยจุนเจือบิดามารดาอันเป็นการปฏิบัติตนในฐานะบุตรที่มีความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี ไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่านายกุ่ยลิ้มและนางชั้นตกลงร่วมค้าขายกับโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ โดยให้โจทก์ทั้งสามลงแรงเป็นหุ้น และประสงค์จะแบ่งเงินกำไรกันหรือหากขาดทุน โจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่น ๆ ต้องรับผิดชอบอย่างไร กลับปรากฏตามทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายว่า นายกุ่ยลิ้มและนางชั้นไม่เคยแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการร้านค้าทั้งสองให้แก่บุตรคนใดคนหนึ่ง แต่หากบุตรคนใดมีความเดือดร้อนต้องการใช้เงินจึงจะไปขอเบิกจากนายกุ่ยลิ้มและนางชั้น การที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่ามีการช่วยงานที่ร้านค้าทั้งสองหรือแม้แต่แบ่งเงินรายได้บางส่วนให้แก่นางชั้นหลังจากนายกุ่ยลิ้มเสียชีวิตแล้วจึงไม่เป็นการลงหุ้น คงเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างบิดามารดากับบุตร หาทำให้กิจการของบิดามารดาเป็นกิจการของครอบครัวอันจะถือว่าเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างบุตรกับบิดามารดาโดยปริยายไม่ โจทก์ทั้งสามและจำเลยรวมทั้งบุตรคนอื่น ๆ จึงไม่เป็นหุ้นส่วนในร้านค้าทั้งสองกับนายกุ่ยลิ้มและนางชั้นตามบทกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์ทั้งสามจะมาฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนร้านค้าทั้งสองและขอแบ่งส่วนผลกำไรจากการดำเนินกิจการร้านค้าทั้งสองตั้งแต่ครั้งที่นายกุ่ยลิ้มยังมีชีวิตอยู่ในฐานะเป็นหุ้นส่วนตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยทำนองว่าระหว่างที่นายกุ่ยลิ้มและนางชั้นมีชีวิตอยู่ ทั้งสองเป็นผู้ประกอบกิจการร้านค้าทั้งสองเอง หาได้เป็นการประกอบการในลักษณะเป็นหุ้นส่วนกับบรรดาบุตรของบุคคลทั้งสองไม่มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share