คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14188/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า อ. เป็นผู้ดูแลกิจการร้านเกิดเหตุ และพักอาศัยอยู่ในร้านเกิดเหตุ แม้ อ. จะมิได้เป็นเจ้าของร้านเกิดเหตุ แต่ก็ถือได้ว่า อ. เป็นผู้ดูแลครอบครองร้านเกิดเหตุ เมื่อ อ. ยินยอมให้จำเลยเข้าไปภายในร้านเกิดเหตุ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยบุกรุก ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเพราะโจทก์ร่วมอนุญาตให้ อ. มีสิทธิเฉพาะทำการค้าขาย ทำงานเพื่อมีรายได้สำหรับ อ. ไว้ใช้จ่ายของ อ. เอง โจทก์ร่วมไม่ได้ให้ อ. เป็นผู้ดูแลกิจการอาคารที่เกิดเหตุ โจทก์ร่วมไม่เคยมอบอำนาจและไม่เคยให้อำนาจ อ. กระทำการเกี่ยวกับอาคารแทนโจทก์ร่วมเลย ยังปรากฏชัดว่า โจทก์ร่วมได้ห้ามจำเลยเข้ามาในอาคารที่เกิดเหตุ และห้ามจำเลยนำอาหารมาให้บิดามารดาโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมห้ามปรามอย่างเด็ดขาดแล้ว จำเลยยังเข้าไป ถือได้ว่าจำเลยเข้าไปในบ้านโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนว่า อ. มีสิทธิให้จำเลยเข้าไปในร้านที่เกิดเหตุหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมนั้นชอบแล้ว
การขออนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 กล่าวคือ โจทก์ร่วมต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์ร่วมไม่ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวข้างต้น แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ก็ไม่อาจถือได้ว่า ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่มีผลตามกฎหมายให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 364, 393
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวอุนีนา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 โจทก์ร่วมไม่ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมข้อแรกว่า อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในความผิดฐานบุกรุกเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ร่วมฎีกาว่า โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาเป็นความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์ดังที่โจทก์ร่วมกล่าวอ้างในฎีกา แต่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ได้ความว่า ผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายอนุญาตให้นายเอก มีสิทธิเฉพาะทำการค้าขาย ทำงานเพื่อมีรายได้สำหรับนายเอกไว้ใช้จ่ายของนายเอกเอง ผู้เสียหายไม่ได้ให้นายเอกเป็นผู้ดูแลกิจการอาคารที่เกิดเหตุแต่อย่างไร ผู้เสียหายไม่เคยมอบอำนาจและไม่เคยให้อำนาจนายเอกกระทำการเกี่ยวกับอาคารแทนผู้เสียหายเลย ยังปรากฏชัดว่า ผู้เสียหายได้ห้ามจำเลยเข้ามาในอาคารที่เกิดเหตุ และห้ามจำเลยนำอาหารมาให้บิดามารดาผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายห้ามปรามอย่างเด็ดขาดแล้ว จำเลยยังเข้าไปถือได้ว่าจำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควร คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่านายเอกเป็นผู้ดูแลกิจการร้านเกิดเหตุ และพักอาศัยอยู่ในร้านเกิดเหตุ แม้นายเอกจะมิได้เป็นเจ้าของร้านเกิดเหตุ แต่ก็ถือได้ว่านายเอกเป็นผู้ดูแลครอบครองร้านเกิดเหตุ เมื่อนายเอกยินยอมให้จำเลยเข้าไปภายในร้านเกิดเหตุ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยบุกรุก ดังนี้ ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนว่านายเอกมีสิทธิให้จำเลยเข้าไปในร้านที่เกิดเหตุหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมข้อสุดท้ายว่า การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ถือว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้าม มิให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 และมาตรา 22 ทวิ ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ซึ่งขั้นตอนในการที่จะปฏิบัติเข้าข้อยกเว้นดังกล่าว มิได้มีบทบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 กล่าวคือ โจทก์ร่วมต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ แต่โจทก์ร่วมไม่ได้ยื่นคำร้องดังที่กล่าวข้างต้น ดังนี้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม จึงไม่มีผลตามกฎหมายให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share