แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 ได้ให้นิยามเจ้าหนี้มีประกันว่า เจ้าหนี้มีประกัน หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ และ ป.พ.พ. มาตรา 241 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนด การที่เจ้าหนี้จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันในฐานะเจ้าหนี้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงนั้นจะต้องเป็นเจ้าหนี้ซึ่งได้ครอบครองทรัพย์สินของลูกหนี้และมีหนี้อันเป็นคุณแก่ตนเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น คดีนี้ลูกหนี้ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 14088 มาเป็นทรัพย์หลักประกันในการขอปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีอาญา ดังนั้นในการทำประกัน เจ้าหนี้ก็เพียงแต่ยึดโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้เท่านั้น แม้ศาลจะได้แจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินให้ระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินดังกล่าวก็เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ในการห้ามไม่ให้ลูกหนี้โอนทรัพย์ดังกล่าวไปให้ผู้อื่น หาทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิเหนือที่ดินอันเป็นทรัพย์หลักประกันแต่อย่างใดไม่ การที่ลูกหนี้มอบโฉนดที่ดินให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เช่นนี้จึงมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่เจ้าหนี้จะยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้จนกว่าจะได้มีการปฏิบัติตามสัญญาประกันหรือสัญญาประกันนั้นสิ้นสุดลง จึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้จึงต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ภายในเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 ซึ่งได้โอนอำนาจในการบังคับคดีนายประกันจากพนักงานอัยการมาเป็นของหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมนั้น ได้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่จะมีการผิดสัญญาประกันในคดีนี้ ซึ่งลูกหนี้ได้ผิดนัดไม่ส่งตัวจำเลยในคดีอาญาในวันที่ 23 สิงหาคม 2548 เจ้าหนี้จึงทราบการบังคับใช้กฎหมายอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งสามารถวางแผนในการดำเนินงานต่าง ๆ ได้ ที่เจ้าหนี้อ้างว่าสำนวนบังคับคดีในประกันมีเป็นจำนวนมากนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าสำนวนบังคับคดีดังกล่าวมีจำนวนมากถึงขนาดที่เจ้าหนี้ไม่อยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่ามีเหตุสุดวิสัยที่เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้หรือมีเหตุอันสมควรที่จะขยายระยะเวลาในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงิน 270,000 บาท พร้อมคำขอขยายระยะเวลาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ในมูลหนี้ค่าปรับนายประกันในคดีอาญาของศาลแขวงธนบุรีหมายเลขแดงที่ 8198/2546 โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 14088 ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย เป็นทรัพย์หลักประกัน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาแล้วเห็นว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้และให้รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้ดำเนินการต่อไป
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์รายวันสยามรัฐฉบับวันที่ 23 เมษายน 2553 และโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 ครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) พร้อมคำร้องขอขยายระยะเวลาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มูลหนี้ค่าปรับนายประกันในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8198/2546 ของศาลแขวงธนบุรี เป็นเงิน 270,000 บาท โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 14088 ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย เป็นทรัพย์หลักประกัน กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ข้อแรกว่า การที่ลูกหนี้ได้ทำสัญญาประกันตัวจำเลยในคดีอาญาโดยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 14088 ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย มาวางเป็นทรัพย์หลักประกันและทำสัญญาประกันไว้กับศาลนั้น เจ้าหนี้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันหรือไม่ ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า เมื่อได้มีการนำโฉนดที่ดินมาวางต่อศาลแล้วทำสัญญาประกัน ทั้งศาลได้แจ้งการระงับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว เจ้าหนี้จึงมีสิทธิยึดหน่วงเหนือทรัพย์สินอันเป็นทรัพย์หลักประกันจึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 ได้ให้นิยามเจ้าหนี้มีประกันว่า เจ้าหนี้มีประกัน หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนด การที่เจ้าหนี้จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันในฐานะเจ้าหนี้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงนั้นจะต้องเป็นเจ้าหนี้ซึ่งได้ครอบครองทรัพย์สินของลูกหนี้และมีหนี้อันเป็นคุณแก่ตนเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น คดีนี้ลูกหนี้ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 14088 จังหวัดเชียงรายมาเป็นทรัพย์หลักประกันในการขอปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีอาญา ดังนั้นในการทำประกัน เจ้าหนี้ก็เพียงแต่ยึดโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้เท่านั้น แม้ศาลจะได้แจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินให้ระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินดังกล่าวก็เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ในการห้ามไม่ให้ลูกหนี้โอนทรัพย์ดังกล่าวไปให้ผู้อื่น หาทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิเหนือที่ดินอันเป็นทรัพย์หลักประกันแต่อย่างใดไม่ การที่ลูกหนี้มอบโฉนดที่ดินให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เช่นนี้จึงมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่เจ้าหนี้จะยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้จนกว่าจะได้มีการปฏิบัติตามสัญญาประกันหรือสัญญาประกันนั้นสิ้นสุดลง จึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้จึงต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ภายในเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ข้อต่อไปมีว่า กรณีมีเหตุที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยื่นล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้พิจารณาหรือไม่ เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับคดีในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันในคดีอาญาจากพนักงานอัยการมายังเจ้าหนี้นั้นทำให้มีสำนวนที่จะต้องดำเนินการเป็นจำนวนมาก กรณีมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่ทราบว่าลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 ซึ่งได้โอนอำนาจในการบังคับคดีนายประกันจากพนักงานอัยการมาเป็นของหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมนั้น ได้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่จะมีการผิดสัญญาประกันในคดีนี้ ซึ่งลูกหนี้ได้ผิดนัดไม่ส่งตัวจำเลยในคดีอาญาในวันที่ 23 สิงหาคม 2548 เจ้าหนี้จึงทราบการบังคับใช้กฎหมายอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งสามารถวางแผนในการดำเนินงานต่าง ๆ ได้ ที่เจ้าหนี้อ้างว่าสำนวนบังคับคดีในประกันมีเป็นจำนวนมากนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าสำนวนบังคับคดีดังกล่าวมีจำนวนมากถึงขนาดที่เจ้าหนี้ไม่อยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่ามีเหตุสุดวิสัยที่เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้หรือมีเหตุอันสมควรที่จะขยายระยะเวลาในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของเจ้าหนี้มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ