คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5599/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คู่ความที่มีความจำนงจะอ้างอิงพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน หากคู่ความประสงค์จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ให้ยื่นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลพร้อมบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายในสิบห้าวันนับแต่วันสืบพยานตามวรรคสองแห่งบทมาตราดังกล่าว แต่หากกำหนดเวลาดังกล่าวล่วงพ้นไปแล้ว คู่ความฝ่ายใดซึ่งยังมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน มีความจำนงจะอ้างพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน คู่ความฝ่ายใดนั้น ต้องยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมบัญชีระบุพยานก่อนพิพากษาคดี โดยต้องแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า มีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถมายื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้และศาลจะอนุญาตตามคำร้องเมื่อเห็นว่า เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสามแห่งบทกฎหมายข้างต้น
จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เพิ่งยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยาน ภายหลังวันสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น โดยจำเลยที่ 3 อ้างเหตุว่า พยานบุคคลเพิ่งยืนยันจะมาเป็นพยานและเพิ่งค้นหาเอกสารที่จะนำมาสืบได้ ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 อ้างว่า บ้านพักของจำเลยที่ 5 และที่ 6 บนที่ดินพิพาทถูกน้ำท่วมต้องย้ายสิ่งของ เพิ่งค้นพบพยานหลักฐานที่จะนำมาประกอบการสืบพยาน และ พ. ทนายจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ยื่นคำร้องดังกล่าว ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นในวันสืบพยานจำเลย ว่า เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เข้าใจว่าทนายความคนเดิมได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยื่นคำให้การต่อสู้โต้เถียงสิทธิของโจทก์มาแต่ต้นอ้างเหตุว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2538 โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 5 ยังร่วมกับจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า ตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ย่อมต้องทราบถึงพยานหลักฐานที่จะใช้อ้างอิงสนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงของตน ประกอบกับ พ. ทนายจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายจำเลยที่ 3 และที่ 5 และเป็นทนายจำเลยที่ 6 ก่อนวันสืบพยานโจทก์ประมาณ 1 ปี ทั้งยังเข้าแก้ต่างคดีแทนจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตั้งแต่กระบวนพิจารณาในชั้นขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดทำแผนที่พิพาทและการตรวจดูแผนที่พิพาทในวันนัดชี้สองสถาน อันเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 กับ พ. ต้องทราบดีถึงข้อต่อสู้และพยานหลักฐานที่จะใช้อ้างแสดงประกอบข้อต่อสู้ และเมื่อพิจารณาว่าพยานหลักฐานซึ่งจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ประสงค์จะอ้างอิง เป็นเพียงการอ้างตัวจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 กับ ส. และพยานเอกสารที่อยู่ในความรู้เห็นและในครอบครองของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตลอดจนตามคำร้องขอระบุพยานของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ก็อ้างเพียงว่า เพิ่งค้นหาเอกสารพบและเพิ่งตั้งทนายความคนใหม่ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในทางพิจารณาที่ปรากฏชัดว่า พ. ทนายจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ได้รับแต่งตั้งให้แก้ต่างคดีมาเป็นเวลาประมาณ 1 ปี ข้ออ้างตามคำร้องจึงมิใช่ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์แสดงได้ว่าเป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง กรณีย่อมไม่อาจรับฟังว่ามีเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ และเมื่อการอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ทั้งการอนุญาตให้ยื่นบัญชีพยานภายหลังกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันสืบพยาน ต้องเป็นกรณีศาลเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ไม่อาจยกเหตุเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขึ้นเป็นข้ออ้างในการพิจารณาอนุญาต กรณีไม่มีเหตุอันสมควรจะอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยื่นบัญชีระบุพยานภายหลังวันสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น ดังนั้น การสืบพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตามบัญชีระบุพยานดังกล่าวที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ทั้งมิใช่พยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ย่อมเป็นการสืบพยานโดยไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 87
แม้ที่ดินพิพาทมีหลักฐานแห่งสิทธิเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ระบุชื่อ ส. เป็นผู้แจ้งการครอบครอง และโจทก์ไม่มีหลักฐานการให้ที่ดินพิพาทมาแสดงก็ตาม แต่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เป็นหลักฐานสิทธิที่ไม่อาจจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อทางราชการและที่ดินพิพาทก็มีสภาพเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีเพียงสิทธิครอบครอง อันสามารถโอนไปซึ่งการครอบครองด้วยการส่งมอบการครอบครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งหกและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทกับให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายปราการ เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และนายรณกร ทายาทของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นคู่ความแทน
ภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งหกและบริวารออกจากที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 1604 ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ตามแผนที่พิพาท โดยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาทด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งหก ห้ามจำเลยทั้งหกและบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทต่อไป และให้จำเลยทั้งหกชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งหกและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยทั้งหกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งหกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยทั้งหกฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 6 ถึงแก่ความตาย นางสาวจุราพร ผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทมีหลักฐานสิทธิเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 1604 ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เนื้อที่ดินตามทะเบียนที่ดิน 2 ไร่ 1 งาน มีอาณาเขตทิศเหนือติดที่ดินนายยืน ทิศใต้ติดถนนหน่อคำ ท่าเรือ ทิศตะวันออกติดลำน้ำน่านทิศตะวันตกติดถนนมโน มีชื่อนางสาวมณฑา หรือนางสุมณฑา มารดาโจทก์เป็นผู้แจ้งการครอบครอง ปัจจุบันเนื้อที่ดินคงเหลือประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวา และมีจำเลยทั้งหกปลูกโรงเรือนอยู่อาศัย โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 แต่ละคนครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1 งาน 31 ตารางวา 94 ตารางวา 78 ตารางวา 71 ตารางวา 46 ตารางวา และ 1 งาน 6 ตารางวา ตามลำดับ และแผนที่พิพาท เดิมนางสุมณฑา ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น ขอให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาท และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่อาศัยในที่ดินพิพาทอีก 1 ปี นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2519 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม เมื่อครบกำหนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 1 ทำบันทึกขอผัดผ่อน จากนั้นได้ทำบันทึกขอเช่าที่ดินพิพาทและทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากนางสุมณฑาต่อไปตามบันทึก และหนังสือสัญญาเช่า ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากนางเพ็ญแข พี่สาวนางสุมณฑา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2523 แล้วทำบันทึกขอเช่าที่ดินพิพาทจากนางสุมณฑาต่อไป ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2551 โจทก์ยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท อ้างว่าได้รับยกให้จากนางสุมณฑาตามบันทึกถ้อยคำ เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออกโฉนด จำเลยทั้งหกคัดค้านการรังวัดอ้างว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2523 ปี 2530 ปี 2516 ปี 2529 และปี 2531 ตามลำดับ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ว่า มีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยื่นบัญชีระบุพยานภายหลังวันสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คู่ความที่มีความจำนงจะอ้างอิงพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน หากคู่ความประสงค์จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ให้ยื่นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลพร้อมบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายในสิบห้าวันนับแต่วันสืบพยานตามวรรคสองแห่งบทมาตราดังกล่าว แต่หากกำหนดเวลาดังกล่าวล่วงพ้นไปแล้ว คู่ความฝ่ายใดซึ่งยังมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน มีความจำนงจะอ้างพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน คู่ความฝ่ายใดนั้น ต้องยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมบัญชีระบุพยานก่อนพิพากษาคดี โดยต้องแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า มีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถมายื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้และศาลจะอนุญาตตามคำร้องเมื่อเห็นว่า เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ ในวรรคสามแห่งบทกฎหมายข้างต้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากทางพิจารณาว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เพิ่งยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานในวันที่ 20 ตุลาคม 2554 ภายหลังวันสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น โดยจำเลยที่ 3 อ้างเหตุว่า พยานบุคคลเพิ่งยืนยันจะมาเป็นพยานและเพิ่งค้นหาเอกสารที่จะนำมาสืบได้ ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 อ้างว่า บ้านพักของจำเลยที่ 5 และที่ 6 บนที่ดินพิพาทถูกน้ำท่วมต้องย้ายสิ่งของ เพิ่งค้นพบพยานหลักฐานที่จะนำมาประกอบการสืบพยาน และนายพิชัย ทนายจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ผู้ยื่นคำร้องดังกล่าว ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นในวันสืบพยานจำเลย ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม 2554 ว่า เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เข้าใจว่าทนายความคนเดิมได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยื่นคำให้การต่อสู้โต้เถียงสิทธิของโจทก์มาแต่ต้นอ้างเหตุว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2538 โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 5 ยังร่วมกับจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า ตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ย่อมต้องทราบถึงพยานหลักฐานที่จะใช้อ้างอิงสนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงของตน ประกอบกับนายพิชัย ทนายจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายจำเลยที่ 3 และที่ 5 ในวันที่ 17 สิงหาคม 2552 และเป็นทนายจำเลยที่ 6 ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 ก่อนวันสืบพยานโจทก์ประมาณ 1 ปี ทั้งยังเข้าแก้ต่างคดีแทนจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตั้งแต่กระบวนพิจารณาในชั้นขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดทำแผนที่พิพาทและการตรวจดูแผนที่พิพาทในวันนัดชี้สองสถาน อันเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 กับนายพิชัยต้องทราบดีถึงข้อต่อสู้และพยานหลักฐานที่จะใช้อ้างแสดงประกอบข้อต่อสู้ และเมื่อพิจารณาว่าพยานหลักฐานซึ่งจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ประสงค์จะอ้างอิง เป็นเพียงการอ้างตัวจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 กับนายสมใจ และพยานเอกสารที่อยู่ในความรู้เห็นและในครอบครองของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตลอดจนตามคำร้องขอระบุพยานของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ก็อ้างเพียงว่า เพิ่งค้นหาเอกสารพบและเพิ่งตั้งทนายความคนใหม่ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในทางพิจารณาที่ปรากฏชัดว่านายพิชัย ทนายจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ได้รับแต่งตั้งให้แก้ต่างคดีมาเป็นเวลาประมาณ 1 ปี ข้ออ้างตามคำร้องจึงมิใช่ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์แสดงได้ว่าเป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง กรณีย่อมไม่อาจรับฟังว่ามีเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ และเมื่อการอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ทั้งการอนุญาตให้ยื่นบัญชีพยานภายหลังกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันสืบพยาน ต้องเป็นกรณีศาลเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ไม่อาจยกเหตุเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขึ้นเป็นข้ออ้างในการพิจารณาอนุญาต กรณีไม่มีเหตุอันสมควรจะอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยื่นบัญชีระบุพยานภายหลังวันสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น ดังนั้น การสืบพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตามบัญชีระบุพยานดังกล่าวที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ทั้งมิใช่พยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ย่อมเป็นการสืบพยานโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานและไม่รับฟังพยานหลักฐานจากการสืบพยานดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งหกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทมีหลักฐานแห่งสิทธิเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ระบุชื่อนางสุมณฑาเป็นผู้แจ้งการครอบครอง และโจทก์ไม่มีหลักฐานการให้ที่ดินพิพาทมาแสดงก็ตาม แต่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เป็นหลักฐานสิทธิที่ไม่อาจจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อทางราชการและที่ดินพิพาทก็มีสภาพเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีเพียงสิทธิครอบครอง อันสามารถโอนไปซึ่งการครอบครองด้วยการส่งมอบการครอบครอง เมื่อโจทก์มีตัวโจทก์กับนางสุมณฑาและนางเพ็ญแข เบิกความว่านายถนอม เจ้าของที่ดินพิพาทคนเดิมยกที่ดินพิพาทให้นางสุมณฑา และนางสุมณฑาครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยการให้จำเลยที่ 1 ดูแลยึดถือที่ดินพิพาทแทนแล้วให้จำเลยที่ 1 กับที่ 2 เช่า หลังจากนั้นนางสุมณฑาจึงยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นการนำสืบยืนยันว่า นางสุมณฑายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทมาตลอด และได้แสดงเจตนาโอนการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้แสดงออกถึงการรับโอนการครอบครองที่ดินพิพาทด้วยการยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทส่วนจำเลยทั้งหกคงให้การปฏิเสธลอย ๆ ว่า นางสุมณฑากับโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทโดยไม่ได้นำสืบปฏิเสธโต้เถียงความแท้จริงแห่งเอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) กับบันทึกผัดผ่อนขออาศัยในที่ดินพิพาท ที่โจทก์อ้างเป็นหลักฐานแสดงการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทด้วยการมอบให้จำเลยที่ 1 ยึดถือแทน ตลอดจนจำเลยทั้งหกมิได้นำพยานหลักฐานอื่นมาพิสูจน์หักล้างข้ออ้างของโจทก์ ข้ออ้างของจำเลยทั้งหกจึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งหกในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งหกว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งหกมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน เห็นว่า แม้จำเลยทั้งหกจะเป็นผู้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและได้คัดค้านการขอรังวัดออกโฉนดพิพาทของโจทก์ โดยอ้างว่า จำเลยทั้งหกครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของและต่อสู้ว่า โจทก์มิได้ฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่จำเลยทั้งหกแย่งการครอบครองก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า โจทก์มีตัวโจทก์กับนางสุมณฑาเบิกความว่า นายถนอมให้จำเลยที่ 1 ปลูกกระต๊อบอาศัยในที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 ประพฤติตัวไม่ดี นายถนอมจึงให้นางสุมณฑาฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยที่ 1 อยู่ในที่ดินพิพาทอีก 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม เมื่อครบกำหนดเวลาก็ผ่อนผันให้จำเลยที่ 1 อยู่อาศัยต่อไป จากนั้นได้ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่าที่ดินพิพาทปลูกบ้านอยู่อาศัย และจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นลูกหลานของจำเลยที่ 1 เข้าปลูกบ้านบนที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 4 เช่าที่ดินพิพาทปลูกบ้านอยู่อาศัย จำเลยที่ 6 เช่าที่ดินพิพาททำเป็นร้านอาหาร และโจทก์ยังมีนางเพ็ญแขกับนางวรพิมพ์วิมล และนายนพคุณ เบิกความประกอบว่า จำเลยที่ 1 เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทก่อนจำเลยอื่น ๆ ต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 4 เช่าที่ดินพิพาทปลูกบ้านอยู่อาศัย ส่วนจำเลยที่ 6 เช่าปลูกสร้างร้านอาหาร นางเพ็ญแขกับนายนพคุณเคยไปเก็บค่าเช่าจากจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 หลายครั้ง และมีเพียงจำเลยที่ 4 ปฏิเสธไม่ชำระค่าเช่าในตอนหลังโดยอ้างว่าไม่มีเงินชำระ สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 5 เป็นบุตรของนางคำอ้วนกับนายป้อมเข้าอาศัยในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 เพราะนางคำอ้วนเป็นน้องของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มีพยานหลักฐานเป็นสำเนาสารบบคำพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งเป็นเอกสารที่ทางราชการเป็นผู้จัดทำกับบันทึกขอผัดผ่อน บันทึกขอเช่า สัญญาเช่า และแบบรับรองข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรพร้อมทะเบียนบ้าน ที่กระทำขึ้นก่อนเกิดข้อพิพาทคดีนี้เป็นเวลาเกินกว่า 20 ปี มาแสดงสนับสนุนข้ออ้างให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 มิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ไม่อาจนำสืบพยานหักล้างข้ออ้างของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ก็นำสืบว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 แผ้วถางครอบครองที่ดินพิพาทปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยตั้งแต่ยังเป็นที่ดินรกร้าง และอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่เคยเช่าที่ดินพิพาทจากผู้ใด โดยจำเลยที่ 2 มีเพียงนายรณกร ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 กับนายบุญส่ง และนางวาสนา เบิกความอ้างลอย ๆ ว่า พยานทั้งสามปากไม่เคยเห็นจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาท โดยมิได้ปฏิเสธโต้เถียงความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารดังกล่าว และมิได้ถามค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับสัญญาเช่าและการเรียกเก็บค่าเช่าที่ดินพิพาทให้เห็นเป็นอื่น อันนับเป็นข้อต่อสู้ที่ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ สำหรับจำเลยที่ 4 แม้จะนำสืบอ้างว่า จำเลยที่ 4 แผ้วถางที่ดินพิพาทและปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยโดยไม่ได้อาศัยสิทธิของผู้ใด แต่จำเลยที่ 4 ก็เบิกความยอมรับข้อเท็จจริงว่า นางเพ็ญแขเคยมาเรียกเก็บค่าเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 4 เดือนละ 50 บาท จำเลยที่ 4 ปฏิเสธไม่ชำระและแจ้งให้นางเพ็ญแขไปฟ้องร้อง หากจำเลยที่ 4 แพ้คดีก็จะออกจากที่ดินพิพาท จากนั้นอีกประมาณ 2 ถึง 3 เดือน ลูกชายนางเพ็ญแขก็มาเรียกเก็บค่าเช่าอีก จำเลยที่ 4 ก็ปฏิเสธไม่ชำระด้วยเหตุผลเดิม ซึ่งเป็นข้อส่อแสดงว่า จำเลยที่ 4 ยอมรับสิทธิของนางเพ็ญแข พี่สาวของนางสุมณฑา ที่มีเหนือที่ดินพิพาทและนับเป็นข้อเจือสมให้ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 4 ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าจากนางสุมณฑา มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าจากนางสุมณฑา ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 5 ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะบริวารของจำเลยที่ 1 ดังนั้น แม้จำเลยทั้งหกจะอ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทมานานเพียงใด จำเลยทั้งหกก็ไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจากนางสุมณฑา และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ฟ้องเอาคืนที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งหกภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งหกคัดค้านการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยทั้งหกย่อมไม่อาจอ้างการครอบครองดังกล่าวขึ้นปฏิเสธยันสิทธิของโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งหกและบริวารออกจากที่ดินพิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งหกในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งหกที่ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 18/2519 ของศาลชั้นต้นที่นางสุมณฑาเคยฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทมาก่อนและคดีเป็นที่สุดไปแล้วนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งหกมิได้ให้การต่อสู้ตั้งประเด็นไว้ในคำให้การ โดยเพียงหยิบยกขึ้นต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริง นำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 18/2519 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ถือว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกในประเด็นดังกล่าวจึงไม่ชอบ และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยในข้อนี้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาตามฟ้องเดิมและฟ้องแย้งให้เป็นพับ

Share