แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เหตุที่โจทก์ยกขึ้นเป็นข้อเลิกจ้าง ข. ลูกจ้างเพราะกระทำผิดซ้ำคำเตือนในข้อขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว การเตือนในครั้งแรกตามหนังสือเตือน ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2553 เป็นการเตือนเนื่องจาก ข. ขัดคำสั่งและโต้เถียงผู้บังคับบัญชาระดับสูงอันเป็นผลมาจากการที่ ข. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในฐานดื่มสุราขณะขับขี่ยานพาหนะและไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ แต่ในการกระทำผิดครั้งหลังเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 เป็นเรื่อง ข. ไม่ไปตรวจสอบสถานที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแล้วทำรายงานเท็จเสนอต่อโจทก์ว่าตรวจสอบแล้ว ซึ่งเป็นคนละกรณีกันไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน อันจะมีผลให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่ ข. ไม่ไปตรวจสถานที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและทำรายงานเท็จต่อโจทก์เป็นการกระทำผิดกรณีร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือนนั้น ไม่ใช่เหตุที่โจทก์อ้างในการเลิกจ้าง ข. ตามหนังสือเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่สามารถยกขึ้นอ้างในการเลิกจ้าง ข. โดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 119 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 50/2553
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติว่าเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2548 โจทก์รับนายขจรวิทย์เป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้ประสานสถานีรถไฟฟ้ากรุงเทพ (บีทีเอส) ฝ่ายรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่ออกตรวจพนักงานรักษาความปลอดภัยสถานีรถไฟฟ้า รวม 24 สถานี ตามสัญญาจ้างแรงงาน ต่อมานายขจรวิทย์เข้าประจำสำนักงานใหญ่ วันที่ 3 เมษายน 2553 นายขจรวิทย์ดื่มสุราและขับขี่ยานพาหนะ เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมดำเนินคดีและวันที่ 5 เมษายน 2553 นายขจรวิทย์หยุดงานไปศาล วันที่ 4 มิถุนายน 2553 ผู้บังคับบัญชาเรียกนายขจรวิทย์มาตักเตือนเรื่องขับขี่ยานพาหนะขณะเมาสุรา นายขจรวิทย์โต้เถียงผู้บังคับบัญชาไม่ยอมรับผิดและไม่ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่ง วันที่ 8 มิถุนายน 2553 โจทก์ออกหนังสือเตือนนายขจรวิทย์ฐานขัดคำสั่งและโต้เถียงผู้บังคับบัญชาระดับสูง วันที่ 13 กรกฎาคม 2553 นายขจรวิทย์ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการตรวจสอบหน่วยงานด้านคุณภาพและด้านความปลอดภัยของสถานีรถไฟฟ้า 5 สถานี รวมทั้งงานอาคารเซ็นเตอร์พอยท์ ซอยเพชรบุรี 15 เพื่อตรวจสอบคุณภาพการบริการด้านความปลอดภัย นายขจรวิทย์ไม่ได้ไปปฏิบัติหน้าที่แต่กลับเขียนรายงานเท็จต่อโจทก์ วันที่ 3 กันยายน 2553 โจทก์มีหนังสือเลิกจ้างนายขจรวิทย์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายขจรวิทย์ลูกจ้างหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่านายขจรวิทย์เคยได้รับคำเตือนเพราะเหตุขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชามาแล้วเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 การกระทำครั้งนี้จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนในเรื่องเดียวกัน คือ ฐานขัดขืนคำสั่งผู้บังคับบัญชาอีกครั้ง เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมตามนัยแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายขจรวิทย์ลูกจ้าง และตามหนังสือเลิกจ้างได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ว่า ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา โดยไม่เชื่อฟัง ไม่มารายงานตัวตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่ให้ความเคารพผู้บริหารระดับสูงตามหนังสือเตือนลงวันที่ 8 มิถุนายน 2553 และต่อมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ได้รับคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาไม่ตรวจสอบหน่วยงานตามที่ได้รับมอบหมาย แต่กลับแจ้งความเท็จโดยทำรายงานปลอมว่าตรวจสอบแล้ว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ทั้งที่เคยได้รับการตักเตือนในเรื่องดังกล่าวมาแล้วไม่หลาบจำกระทำผิดซ้ำคำเตือนในเรื่องเดียวกันอีกในเรื่องขัดขืนต่อคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ถือเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และ/หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ทั้งเป็นการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) อีกส่วนหนึ่งด้วย จึงเห็นได้ว่าเหตุที่โจทก์ยกขึ้นเป็นข้อเลิกจ้างนายขจรวิทย์เพราะกระทำผิดซ้ำคำเตือนในข้อขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว ดังนั้นการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการเตือนในครั้งแรกเป็นการเตือนเนื่องจากลูกจ้างขัดคำสั่งและโต้เถียงผู้บังคับบัญชาระดับสูงอันเป็นผลมาจากการที่ลูกจ้างถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในฐานดื่มสุราขณะขับขี่ยานพาหนะและไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ แต่ในการกระทำผิดครั้งหลังนี้เป็นเรื่องไม่ไปตรวจสอบสถานที่แล้วทำรายงานเท็จเสนอต่อโจทก์ ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน ไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนอันจะมีผลให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ดังนี้จึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่นายขจรวิทย์ไม่ไปตรวจสถานที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและทำรายงานเท็จต่อโจทก์นั้นเป็นการกระทำผิดกรณีร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือนนั้น ไม่ใช่เหตุที่โจทก์อ้างในการเลิกจ้างนายขจรวิทย์ตามหนังสือเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่สามารถยกขึ้นอ้างในการเลิกจ้างนายขจรวิทย์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 119 วรรคท้าย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยและพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน