คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร่วมกระทำความผิดในลักษณะตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 จะต้องเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันซึ่งต้องพิจารณาทั้งในส่วนการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ หมายถึงต้องร่วมกระทำผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งทุกคนที่กระทำจะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้นที่เป็นผู้เสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ร่วมเสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 เพิ่งจะเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในลักษณะของตัวการ และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 นั้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้หรือขอให้เงินสินบนแก่เจ้าพนักงานตำรวจแล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจในภายหลังจึงไม่เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะการเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 จะต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วยการปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้พ้นจากการจับกุม เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดแยกได้ต่างหากจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากคำฟ้องที่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงานก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานแล้ว เพราะในการกระทำนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันกระทำหรือต่างกระทำความผิดเพียงลำพัง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนก็ย่อมถูกลงโทษ เป็นแต่จะลงโทษได้เต็มคำขอของโจทก์หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณานั้น ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า “ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น… (3) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการถูกจับกุม” และมาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติต่อไปว่า “ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้” แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ต้องการลงโทษผู้ที่จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินหรือที่ประชุมหรือที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยตรง โดยผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ้นจากการถูกจับกุม การจัดหาหรือให้เงินตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) นี้จะต้องเป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น และหากเป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนเพื่อช่วยให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลก็มีอำนาจที่จะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาหรือให้เงินสินบนแก่เจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกจากการถูกจับกุม มิใช่เป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และเรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 144 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง นับโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนหลังต่อจากโทษในสำนวนแรก
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่ เป็นรับสารภาพในข้อหาร่วมกันให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ แต่รับว่ามีเมทแอมเฟตามีน 50,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การรับเพียงว่ามีเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันกับความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 1 ปี ส่วนความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 รับว่ามีเมทแอมเฟตามีน 50,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 4 และที่ 5 รับว่ามีเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และทางนำสืบของจำเลยที่ 3 และที่ 6 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ตลอดชีวิต เมื่อรวมโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทุกกระทงแล้วคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนหลังต่อจากโทษในสำนวนแรกนั้น ปรากฏว่าศาลได้รวมการพิจารณาพิพากษาทั้งสองคดีเข้าด้วยกันเนื่องจากคดีทั้งสองมีความเกี่ยวพันกันพยานหลักฐานชุดเดียวกัน กรณีจึงไม่อาจนับโทษต่อตามที่โจทก์ขอมาได้ คำขอในส่วนนี้จึงให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 86 จำคุก 1 ปี 4 เดือน ยกฟ้องความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งเจ็ดพร้อมยึดของกลางต่าง ๆ ตามฟ้องดำเนินคดี คดีสำหรับจำเลยที่ 7 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ฟังยุติตามนั้น ส่วนจำเลยอื่นยกเว้นจำเลยที่ 1 ฟังยุติว่ากระทำความผิดตามฟ้องตามคำพิพากษาถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เสนอให้สินบนแก่เจ้าพนักงานเพื่อแลกกับการปล่อยตัวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 โดยจำเลยที่ 1 นำเงิน 5,000,000 บาท มามอบให้แก่เจ้าพนักงานและรับว่าจะให้อีก 5,000,000 บาท เพื่อแลกกับการปล่อยตัวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการให้สินบนแก่เจ้าพนักงานโดยแบ่งหน้าที่กันทำ หาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนการให้สินบนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ และการที่จำเลยที่ 1 นำเงินมามอบให้แก่เจ้าพนักงานถือเป็นการให้เงินแก่เจ้าพนักงานเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกปล่อยตัวระหว่างถูกควบคุมตัวในขั้นตอนของการจับกุมของเจ้าพนักงานหรือพ้นจากการถูกจับกุม อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) แล้ว ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 และจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ เห็นว่า การร่วมกระทำความผิดในลักษณะตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นั้น จะต้องเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันซึ่งต้องพิจารณาทั้งในส่วนการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ หมายถึง ต้องร่วมกระทำผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งทุกคนที่กระทำจะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย เมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ฟังได้เพียงว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้นที่เป็นผู้เสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ร่วมเสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 เพิ่งจะเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในลักษณะของตัวการ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 นั้น เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้หรือขอให้เงินสินบนแก่เจ้าพนักงานตำรวจแล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจในภายหลังจึงไม่เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะการเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จะต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วยการปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้พ้นจากการจับกุม เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดแยกได้ต่างหากจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากคำฟ้องที่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงานก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานแล้ว เพราะในการกระทำนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันกระทำหรือต่างกระทำความผิดเพียงลำพัง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนก็ย่อมถูกลงโทษ เป็นแต่จะลงโทษได้เต็มคำขอของโจทก์หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณานั้น ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานสนับสนุนการให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 86 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า “ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น… (3) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการถูกจับกุม” และมาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติต่อไปว่า “ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้” แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ต้องการลงโทษผู้ที่จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินหรือที่ประชุมหรือที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยตรง โดยผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ้นจากการถูกจับกุม ดังนั้น การจัดหาหรือให้เงินตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) นี้ จะต้องเป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น และหากเป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนเพื่อช่วยให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลก็มีอำนาจที่จะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาหรือให้เงินสินบน 5,000,000 บาท แก่เจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกจากการถูกจับกุม มิใช่เป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 จำคุก 4 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share