คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4165/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษปรับจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ไม่ถูกต้องเนื่องจาก ป.อ. มาตรา 92 บัญญัติว่า “…หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง” การเพิ่มโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเพิ่มโทษได้เฉพาะโทษจำคุกเท่านั้น เมื่อการกระทำความผิดฐานดังกล่าวศาลชั้นต้นเพียงแต่ลงโทษปรับ จึงเพิ่มโทษในความผิดฐานนี้ไม่ได้ และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โดยไม่แก้ไขให้ถูกต้อง เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 80, 83, 91, 92, 288, 371 ริบอาวุธมีดของกลาง และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1971/2556 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 คดีนี้ และเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่ขอให้บวกโทษ และจำเลยที่ 2 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง
ระหว่างพิจารณานางสาวอนงค์ มารดาของนายยงยุทธ ผู้ตายและนางสาวอภิญญา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลอนุญาตเฉพาะข้อหาความผิดต่อชีวิต และให้เรียกว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ตายก่อนตาย ค่าจ้างรถยนต์ส่งศพ ค่าโลงศพและชุดรับศพ ค่าปลงศพ ค่าขาดรายได้ ค่าพาหนะ และค่าขาดไร้อุปการะเป็นเวลา 18 ปี รวมเป็นเงิน 1,883,782 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 11 เมษายน 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าพาหนะ และค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ค่าเสื่อมสภาพร่างกายไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ เสียโฉมติดตัว รวมเป็นเงิน 1,019,803 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 11 เมษายน 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 69, 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 8 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 900 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม เป็นปรับ 1,200 บาท รวมโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 6 ปี และปรับ 900 บาท บวกโทษจำคุก 1 ปี ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1971/2556 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษคดีนี้ เป็นจำคุก 7 ปี และปรับ 900 บาท รวมโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 8 ปี และปรับ 1,200 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบอาวุธมีดของกลาง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 556,782 บาท และแก่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 319,803 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 11 เมษายน 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
โจทก์ร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 297 ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 18 ปี ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุกคนละ 3 ปี บวกโทษจำคุก 1 ปี เข้ากับโทษคดีนี้ของจำเลยที่ 1 รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 22 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 กระทงละหนึ่งในสามรวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 28 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 22 ปี และปรับ 900 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 28 ปี และปรับ 1,200 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้มีดพกปลายแหลมเป็นอาวุธฟันและแทงนายยงยุทธ ผู้ตาย และร่วมกันใช้มีดพกปลายแหลมกับมีดปังตอเป็นอาวุธฟันและแทงนางสาวอภิญญา โจทก์ร่วมที่ 2 หลายครั้งจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า การที่จำเลยที่ 1 มีอาวุธมีดไว้ป้องกันตัว มีเจตนาฆ่าผู้ตายหรือเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุหรือไม่ เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับฟังเป็นยุติโดยจำเลยที่ 1 มิได้หยิบยกขึ้นฎีกาโต้แย้ง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายถูกแทงที่ด้านหน้าจนลงไปนอนคว่ำหน้ากับพื้นแล้ว กับเมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่มีมีดปังตออยู่ในมือแล้ว ถือว่าภยันตรายที่เกิดจากการต่อสู้ของผู้ตายและมีดปังตอของโจทก์ที่ 2 สิ้นไปแล้ว ไม่มีภยันตรายใดที่จำเลยที่ 1 ต้องกระทำเพื่อป้องก้นตัว การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายด้านหลังนั้น ปรากฏจากเอกสารว่า ด้านหลังผู้ตายมีบาดแผล 4 แห่ง ลึกถึงอวัยวะภายใน 2 แห่ง แสดงว่าเป็นการแทงโดยแรงอย่างตั้งใจ มิใช่การเหวี่ยงไปมาดังที่จำเลยที่ 1 นำสืบ จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายสมเจตนา จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษา และไม่เป็นการป้องกันอันพอสมควรแก่เหตุดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนตามที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมาซึ่งเหมาะสมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษปรับจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ไม่ถูกต้องเนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 บัญญัติว่า “…หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง” การเพิ่มโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเพิ่มโทษได้เฉพาะโทษจำคุกเท่านั้น เมื่อการกระทำความผิดฐานดังกล่าวศาลชั้นต้นเพียงแต่ลงโทษปรับ จึงเพิ่มโทษในความผิดฐานนี้ไม่ได้ และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โดยไม่แก้ไขให้ถูกต้อง เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษปรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าว 900 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share