แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์จะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 ได้นั้น ในเบื้องต้นโจทก์ในคดีแรกและโจทก์ในคดีหลังต้องเป็นโจทก์คนเดียวกัน ซึ่งคำว่าโจทก์รวมถึงบุคคลที่ไม่เคยยื่นฟ้องแต่อยู่ในฐานะเดียวกับโจทก์ด้วย ดังเช่นคดีก่อน โจทก์คือห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แต่คดีนี้ได้มีการยกเลิกห้างดังกล่าวแล้ว โดยมี ศ. หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ชำระบัญชีและเป็นผู้ฟ้องคดีแทน ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1259 ที่ว่า ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจแก้ต่างว่าต่างในนามห้างหุ้นส่วนในอรรถคดีทั้งหลายทั้งปวงของห้าง ดังนั้น จึงถือว่าเป็นโจทก์คนเดียวกัน
ตามหลักกฎหมายหุ้นส่วน มีบทบัญญัติให้หุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องรับผิดอย่างไม่จำกัดจำนวนหรือรับผิดเป็นส่วนตัวต่อบุคคลภายนอกที่มีนิติสัมพันธ์กับห้าง ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะด้านความรับผิดเท่านั้น มิใช่การไปตั้งสิทธิเรียกร้องใด ๆ ได้เป็นส่วนตัวต่างหากจากห้าง จึงถือไม่ได้ว่า ศ. มีอำนาจฟ้องเป็นส่วนตัวอีกฐานะหนึ่ง ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นคนเดียวกับโจทก์ในคดีก่อน
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น” โดยมีความมุ่งหมายว่า คดีเรื่องเดียวกันโจทก์ควรฟ้องร้องว่ากล่าวเสียให้เสร็จสิ้นในคราวเดียว คดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลละเมิดให้คืนรถแทรกเตอร์พิพาททั้งสองคันหรือชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถดังกล่าวรวมทั้งค่าเสื่อมราคา ส่วนคดีนี้โจทก์ก็เรียกร้องในเรื่องเดียวกันโดยข้ออ้างต่างกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 คำนวณค่าเสียหายจากการใช้ประโยชน์ในรถแทรกเตอร์พิพาททั้งสองคันไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม โดยมีรายละเอียดว่าเนื่องจากจำเลยที่ 1 นำรถแทรกเตอร์ของโจทก์ไปใช้ประโยชน์นานถึง 5 ปี 10 เดือน จึงต้องใช้ค่าขาดประโยชน์ขั้นต่ำประมาณ 21,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ขอชดใช้เพียงแค่ 3,617,280 บาท จึงต่ำเกินไป ซึ่งค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถดังกล่าว โจทก์สามารถกำหนดเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ในคราวเดียวกันกับที่ฟ้องคดีแรกอยู่แล้ว เพราะสภาพแห่งข้อกล่าวหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อกล่าวหาเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนี้เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นการยื่นคำฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของห้างโจทก์ โดยมูลหนี้ที่ฟ้องร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าภาษีอากร และภายหลังที่ศาลออกคำบังคับ โจทก์กับพวกไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์กับพวกมาชำระหนี้ อันเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายโดยชอบ และเมื่อจำเลยที่ 2 ตรวจสอบพบว่า โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ของตนมีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนหนึ่งจากบุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 1 จึงดำเนินการขอให้มีการอายัดเงินดังกล่าวเพื่อนำมาชำระหนี้ของตน อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่กฎหมายให้สิทธิไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ ประกอบมาตรา 311 ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ควรอายัดสิทธิในจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กำหนดแก่โจทก์ เพราะเป็นจำนวนเงินที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องเสียประโยชน์ได้เงินมาชำระหนี้ไม่ครบจำนวนนั้น เป็นเรื่องของความคาดหวังของโจทก์เอง เนื่องจากตนยังสู้คดีอยู่กับจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะได้เงินค่าเสียหายตามจำนวนที่ต้องการ ดังนี้จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะต้องรอและงดการอายัดสิทธิที่ตนควรได้ไว้ก่อนแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริตชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นละเมิดจึงไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 21,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และเพิกถอนการชำระหนี้และการรับชำระหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2553
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2546 จำเลยที่ 1 ได้สั่งยึดรถแทรกเตอร์ขุดดิน ยี่ห้อโกเบลโก หมายเลขทะเบียน ตค 43 มหาสารคาม และหมายเลขทะเบียน ตค 187 มหาสารคาม ของห้างหุ้นส่วนจำกัด สี่พี่น้องก่อสร้าง ไว้เป็นการชั่วคราว เนื่องจากสงสัยในพฤติการณ์ของผู้เป็นหุ้นส่วนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดคดียาเสพติดให้โทษ ระหว่างยึดไว้จำเลยที่ 1 ได้สั่งให้นำรถทั้งสองคันดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในทางราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด กองทัพบก ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งยกเลิกการยึดรถแทรกเตอร์ทั้งสองคันดังกล่าวโดยให้คืนแก่เจ้าของ โจทก์จึงเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายจากการนำรถทั้งสองคันไปใช้ประโยชน์ ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 1 ได้กำหนดค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพรถให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 6,017,280 บาท แต่โจทก์เห็นว่าค่าเสียหายดังกล่าวเป็นจำนวนที่ต่ำเกินไปไม่ถูกต้องเป็นธรรม จึงมีหนังสือท้วงติงให้จำเลยที่ 1 กำหนดใหม่ ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด สี่พี่น้องก่อสร้างถูกจำเลยที่ 2 ฟ้องเรียกค่าภาษีที่ติดค้างและศาลได้มีคำพิพากษาบังคับให้ห้างดังกล่าวชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 14,172,017.83 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้มีหนังสือแจ้งอายัดเงินค่าเสียหายจำนวน 6,017,280 บาท ที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยที่ 1 ไปเพื่อบังคับชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามหลักฐานการอายัด ต่อมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2552 โจทก์ก็ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดคืนทรัพย์สินและชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 5,367,500 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้าน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จึงยื่นฎีกา คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประเด็นแรกว่า ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์จะเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 ได้นั้น ในเบื้องต้นโจทก์ในคดีแรกและโจทก์ในคดีหลังต้องเป็นโจทก์คนเดียวกัน ซึ่งคำว่าโจทก์รวมถึงบุคคลที่ไม่เคยยื่นฟ้องแต่อยู่ในฐานะเดียวกับโจทก์ด้วย ดังเช่นคดีก่อน โจทก์คือห้างหุ้นส่วนจำกัด สี่พี่น้องก่อสร้าง แต่คดีนี้ได้มีการยกเลิกห้างดังกล่าวแล้ว โดยมีนายเศรษฐวิทย์ หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ชำระบัญชีและเป็นผู้ฟ้องคดีแทน ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1259 ที่ว่า ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจแก้ต่างว่าต่างในนามห้างหุ้นส่วนในอรรถคดีทั้งหลายทั้งปวงของห้าง ดังนั้น จึงถือว่าเป็นโจทก์คนเดียวกัน ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่านายเศรษฐวิทย์มี 2 สถานะ คือ สถานะเป็นผู้ชำระบัญชีทำการแทนห้าง และในฐานะส่วนตัวจากที่ได้รับแต่งตั้งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งต้องรับผิดในหนี้ของห้างอย่างไม่จำกัดจำนวนหรือต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จึงเป็นคนละคนกับโจทก์ในคดีก่อน เห็นว่า ตามหลักกฎหมายหุ้นส่วน มีบทบัญญัติให้หุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องรับผิดอย่างไม่จำกัดจำนวนหรือรับผิดเป็นส่วนตัวต่อบุคคลภายนอกที่มีนิติสัมพันธ์กับห้าง ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะด้านความรับผิดเท่านั้น มิใช่การไปตั้งสิทธิเรียกร้องใด ๆ ได้เป็นส่วนตัวต่างหากจากห้าง ดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่านายเศรษฐวิทย์มีอำนาจฟ้องเป็นส่วนตัวอีกฐานะหนึ่ง ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นคนเดียวกับโจทก์ในคดีก่อน ข้อที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ มูลคดีที่ฟ้องเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น” โดยมีความมุ่งหมายว่า คดีเรื่องเดียวกันโจทก์ควรฟ้องร้องว่ากล่าวเสียให้เสร็จสิ้นในคราวเดียว ตามพฤติการณ์แห่งคดีนี้ได้ความว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลละเมิดให้คืนรถแทรกเตอร์พิพาททั้งสองคันหรือชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถดังกล่าวรวมทั้งค่าเสื่อมราคา ส่วนคดีนี้โจทก์ก็เรียกร้องในเรื่องเดียวกันโดยข้ออ้างต่างกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 คำนวณค่าเสียหายจากการใช้ประโยชน์ในรถแทรกเตอร์พิพาททั้งสองคันไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม โดยมีรายละเอียดว่าเนื่องจากจำเลยที่ 1 นำรถแทรกเตอร์ของโจทก์ไปใช้ประโยชน์นานถึง 5 ปี 10 เดือน จึงต้องใช้ค่าขาดประโยชน์ขั้นต่ำประมาณ 21,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ขอชดใช้เพียงแค่ 3,617,280 บาท จึงต่ำเกินไป ซึ่งค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถดังกล่าว โจทก์สามารถกำหนดเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ในคราวเดียวกันกับที่ฟ้องคดีแรกอยู่แล้ว เพราะสภาพแห่งข้อกล่าวหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อกล่าวหาเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนี้เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นการยื่นคำฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยที่ 2 อายัดเงินค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้แก่โจทก์เป็นไปโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของห้างโจทก์ โดยมูลหนี้ที่ฟ้องร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าภาษีอากร และภายหลังที่ศาลออกคำบังคับ โจทก์กับพวกไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์กับพวกมาชำระหนี้ อันเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายโดยชอบ และเมื่อจำเลยที่ 2 ตรวจสอบพบว่า โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ของตนมีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนหนึ่งจากบุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 1 จึงดำเนินการขอให้มีการอายัดเงินดังกล่าวเพื่อนำมาชำระหนี้ของตน อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่กฎหมายให้สิทธิไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 ทวิ ประกอบมาตรา 311 ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ควรอายัดสิทธิในจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กำหนดแก่โจทก์ เพราะเป็นจำนวนเงินที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องเสียประโยชน์ได้เงินมาชำระหนี้ไม่ครบจำนวนนั้น เป็นเรื่องของความคาดหวังของโจทก์เอง เนื่องจากตนยังสู้คดีอยู่กับจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะได้เงินค่าเสียหายตามจำนวนที่ต้องการ ดังนี้จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะต้องรอและงดการอายัดสิทธิที่ตนควรได้ไว้ก่อนแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริตชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นละเมิดจึงไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอน ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ