แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 จึงมีอายุความห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินถึงจำเลยที่ 1 ให้ชำระภาษี เป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) จำเลยที่ 1 รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ตั้งแต่พ้น 30 วัน ที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 นำเงินภาษีอากรไปชำระ อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 และเมื่อโจทก์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ ย่อมมีผลต่อการบังคับคดีของโจทก์ตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร เป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภาษีอากรตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกัน กับการฟ้องคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) จำเลยที่ 1 รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงนับแต่วันดังกล่าวและเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดนับแต่พ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันดังกล่าว ตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 วันที่ 30 กันยายน 2556 คดียังไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตาม มาตรา 1252 จำเลยที่ 2 จึงควรจะต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรจากการยื่นแบบแสดง รายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่ เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นการประเมินตนเอง หาจำต้องรอให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินมาก่อนไม่ เพียงแต่หากผู้มีหน้าที่ชำระภาษียื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนและแจ้งการประเมินได้ต่อไปเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีอากรโจทก์ แต่ไม่นำรายได้ที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 มาลงในงบดุลและไม่จัดการใช้หนี้ให้แก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 หรือวางเงินแทนชำระหนี้ตามมาตรา 1254 จำเลยที่ 2 กลับทำงบดุลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 (ณ วันเลิก) โดยไม่ถูกต้องแล้วแบ่งกำไรสะสมคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1269 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ในหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระแต่ต้องไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี
สำนักสืบสวนและคดีรายงานเรื่องการดำเนินคดีภาษีอากรและการดำเนินคดีละเมิดให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบ ตามบันทึกข้อความลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ซึ่ง ว. ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรได้ลงนามให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือ จำเลยที่ 2 ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 จึงยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน อีกทั้งไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าภาษีอากรค้างจำนวน 206,618,213.53 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์อีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งจำนวน 60,029,371.43 บาท และจำนวน 6,450,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระภาษีอากรจำนวน 206,618,213.53 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2550 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ชำระบัญชี เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบข้อมูลและวิเคราะห์งบการเงินของจำเลยที่ 1 แล้วเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดศักดิ์ศรีทวีกรุ๊ปราคา 35,000,000 บาท เป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง จึงตรวจสอบและได้ความจากนายสุรพล หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดศักดิ์ศรีทวีกรุ๊ป ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดศักดิ์ศรีทวีกรุ๊ปซื้อที่ดินพิพาทราคา 250,000,000 บาท และห้างหุ้นส่วนจำกัดศักดิ์ศรีทวีกรุ๊ปแสดงรายการทรัพย์สินในงบดุลในส่วนของมูลค่าที่ดินพิพาท 250,000,000 บาท เมื่อตรวจสอบธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถลาง เกี่ยวกับเรื่องการจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันเงินกู้พบว่าที่ดินพิพาทรวมสิ่งปลูกสร้างมีราคาประเมิน 139,500,000 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะโดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) 139,500,000 บาท เป็นราคาขายที่แท้จริง และประเมินรายได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้นโดยใช้รายได้ค่าเช่าตามที่แสดงในงบการเงินเป็นเงินค่าเช่าเพิ่มขึ้น 1,540,000 บาท คิดเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล 30,595,871.05 บาท เบี้ยปรับ 30,595,871.05 บาท เงินเพิ่ม 10,555,575.51 บาท รวมเป็น 71,747,317 บาท และกรณีประมาณการกำไรสุทธิครึ่งปีเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 67 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี เป็นเงิน 35,342 บาท ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3,135,000 บาท เบี้ยปรับ 3,135,000 บาท เงินเพิ่ม 1,363,725 บาท ภาษีส่วนท้องถิ่น 763,372.50 บาท รวมเป็น 8,397,097.50 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินวันที่ 15 มกราคม 2553 และยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 โดยอุทธรณ์เฉพาะการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนของรายรับจากการขายที่ดินพิพาท ไม่ได้โต้แย้งการประเมินรายรับจากการให้เช่ากับไม่ได้อุทธรณ์การประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และชำระภาษีในส่วนนี้ครบถ้วนแล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีมติให้ปรับปรุงการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยใช้ราคาขายที่ดินจำนวน 250,000,000 บาท ที่ได้ความจากคำให้การของนายสุรพล หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดศักดิ์ศรีทวีกรุ๊ป และจากการตรวจสอบการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ของห้างหุ้นส่วนจำกัดศักดิ์ศรีทวีกรุ๊ปที่แสดงราคาที่ดินพิพาทว่ามีมูลค่าสุทธิ 250,000,000 บาท คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล 62,651,921.05 บาท เบี้ยปรับ 62,651,921.05 บาท เงินเพิ่ม 21,614,912.76 บาท รวมเป็น 146,918,754.86 บาท ภาษีธุรกิจเฉพาะ 6,450,000 บาท เบี้ยปรับ 6,450,000 บาท เงินเพิ่ม 2,805,750 บาท ภาษีส่วนท้องถิ่น 1,570,575 บาท รวมเป็น 17,276,325 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระเงินค่าภาษีอากรตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และไม่ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง หนี้ภาษีอากรตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นอันยุติ เจ้าหน้าที่ของโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอให้เรียกเงินปันผลที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้นและเงินให้กู้ยืม และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเงินส่วนแบ่งกำไรไปชำระหนี้ค่าภาษีอากร ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 2 นำเงินส่วนแบ่งกำไร 2,622,549.62 บาท มาชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้กับโจทก์
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า แม้มูลหนี้ตามฟ้องจะเป็นหนี้ภาษีอากร แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 จึงมีอายุความห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะถึงจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 ให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีภายใน 30 วัน นับแต่วันรับหนังสือ ถือว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 แล้ว เป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี ทั้งนี้เพราะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรค้าง โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ย่อมเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) จำเลยที่ 1 รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่พ้นกำหนด 30 วันที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 นำเงินภาษีอากรไปชำระ อายุความเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าภาษีอากรจึงเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยกับการประเมินจึงยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 การยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจมีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินได้ หนี้ค่าภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินจึงเป็นหนี้ที่ยังไม่แน่นอนว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่เพียงใด แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และโจทก์แจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าจะต้องเสียภาษีเท่าใดแล้วย่อมมีผลต่อการบังคับคดีของโจทก์ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะความรับผิดในหนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าหรือเท่ากับการประเมินก็ได้ ดังนั้น การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ ถือเป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภาษีอากรตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) จำเลยที่ 1 รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงนับแต่วันดังกล่าว และเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดนับแต่พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันดังกล่าว ตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 วันที่ 30 กันยายน 2556 แม้อายุความจะเป็นไปตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ก็ตาม คดียังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีทำละเมิดหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการเป็นผู้ชำระบัญชีตามที่กฎหมายบัญญัติ หน้าที่สำคัญที่ผู้ชำระบัญชีจะต้องดำเนินการก็คือการชำระสะสางการงานของบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้น ถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ใช้หนี้ ผู้ชำระบัญชีต้องวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้น ตามมาตรา 1250 และมาตรา 1264 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดศักดิ์ศรีทวีกรุ๊ปในราคา 250,000,000 บาท การที่จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง โดยไม่ลงรายได้จากการขายที่ดินพิพาทให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้การชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีธุรกิจเฉพาะไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 เป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จำเลยที่ 2 จึงควรจะต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีดังกล่าวแก่โจทก์จากการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่ เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นการประเมินตนเอง หาจำต้องรอให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินมาก่อนไม่ เพียงแต่หากผู้มีหน้าที่ชำระภาษียื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนและแจ้งการประเมินได้ต่อไปเท่านั้น จำเลยที่ 1 มีรายได้จากการขายที่ดินพิพาท 250,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ขณะขายที่ดินพิพาทและเป็นผู้ชำระบัญชีกลับลงรายได้จากการขายที่ดินในงบกำไรขาดทุน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 (ณ วันเลิก) ว่ามี 35,000,000 บาท เป็นการลงรายได้จากการขายที่ดินขาดไป 215,000,000 บาท ทำให้สินทรัพย์ตามงบดุล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 (ณ วันเลิก) ไม่ถูกต้อง สินทรัพย์ตามงบดุลจึงมีเพียง 23,510,524.50 บาท น้อยกว่าความเป็นจริงและเมื่อหักกับหนี้สิน ณ วันเลิกแล้วจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีไม่พอชำระหนี้ภาษีอากรทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีอากรโจทก์ แต่ไม่นำรายได้ที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 มาลงในงบดุลและไม่จัดการใช้หนี้ให้แก่โจทก์ให้ครบถ้วน ตามหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีที่ต้องสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไปหรือจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 หรือวางเงินแทนชำระหนี้ ตามมาตรา 1264 จำเลยที่ 2 กลับทำงบดุลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 (ณ วันเลิก) โดยไม่ถูกต้องแล้วแบ่งกำไรสะสมคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1269 ที่กำหนดให้ผู้ชำระบัญชีกันเงินส่วนที่บริษัทเป็นหนี้และแบ่งคืนเงินแก่ผู้ถือหุ้นเพียงแต่เท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทเท่านั้น การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ในหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระ แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี เมื่องบดุลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 (ณ วันเลิก) ไม่ถูกต้อง ดังนั้น สินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ณ วันเลิกกิจการจึงต้องมีรายได้จากการขายที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้น 215,000,000 บาท และจากข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยที่ 1 ลงรายได้จากค่าเช่าในงบกำไรขาดทุนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 (ณ วันเลิก) ขาดไป 1,540,000 บาท จึงต้องนำรายได้ดังกล่าวเข้ามาบวกรวมเป็นสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงมีสินทรัพย์ 240,050,524.50 บาท เมื่อนำสินทรัพย์หักลบกับหนี้สิน ณ วันเลิก 887,974.88 บาท แล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันสิ้นสุดแห่งการชำระบัญชี 239,162,549.62 บาท ส่วนทุนเรือนหุ้น 20,000,000 บาท และกำไรสะสมที่ยังไม่ได้แบ่ง 2,622,549.62 บาท นั้นเป็นส่วนของทุนบริษัทไม่ใช่สินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีอากรค้าง 206,618,213.53 บาท โดยเงินเพิ่มได้คำนวณจนครบภาษีอากรที่ต้องชำระแล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีไม่นำทรัพย์สินคงเหลือของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ 206,618,213.53 บาท ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในประการต่อไปว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 คือ วันที่ 15 มกราคม 2553 และการที่นางสาวจำรัส รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร มีความเห็นชอบกับการพิจารณาอุทธรณ์ของสำนักงานสรรพากรภาค 11 จึงเป็นการที่อธิบดีกรมสรรพากรรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีดำเนินการชำระบัญชีไม่ถูกต้องจึงถือว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2554 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 30 กันยายน 2556 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเรื่องละเมิด นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยที่ 2 จงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมายและมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการทำละเมิด ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น มีอายุความหนึ่งปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือสิบปี นับแต่วันทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ข้อนี้ได้ความจากนายชัยพฤกษ์ นิติกรชำนาญการของโจทก์ว่า สำนักสืบสวนและคดีรายงานเรื่องการดำเนินคดีภาษีอากรและการดำเนินคดีละเมิดให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบ ตามบันทึกข้อความลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ซึ่งนางวณี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรได้ลงนามให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือ จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 หรือการที่นางสาวจำรัสมีความเห็นชอบกับการพิจารณาอุทธรณ์เป็นแต่เพียงขั้นตอนในการประเมินภาษีและพิจารณาอุทธรณ์ ไม่ได้เป็นการที่โจทก์รู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 จึงยังไม่พ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่โจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน อีกทั้งไม่เกินสิบปี นับแต่วันทำละเมิด คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ