แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 1.7 ไม่ใช่ข้อกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ร. เพราะด้วยเหตุว่าพินัยกรรมเขียนไว้ให้มีผลเมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายอันเป็นการกำหนด การเผื่อตายของโจทก์ที่ 1 และข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 1.7.2 และ 1.7.3 ไม่ระบุถึงตัวบุคคลผู้รับพินัยกรรมที่ชัดเจน ข้อกำหนดพินัยกรรมส่วนนี้จึงใช้บังคับไม่ได้ เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทข้อ 1.6 ที่ระบุว่าให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกโดยได้ให้ค่าตอบแทนตามสมควร ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่ชัดเจนว่าเท่าใด จึงไม่มีผลบังคับนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องจึงเป็นข้อที่ไม่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนางระเบียบ ฉบับลงวันที่ 27 มกราคม 2554 และให้ข้อกำหนดตามพินัยกรรมข้อที่ 1.3, 1.4, 1.7 ไม่มีผลใช้บังคับ และให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 7765, 11339, 1965, 1990, 1450, 3511 คืนแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยส่งมอบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารหรือสถาบันการเงิน ใบหุ้น บัญชีกองทุน โฉนดที่ดิน นอกจากคำขอท้ายฟ้องข้างต้น รวมทั้งเครื่องประดับ แหวน เครื่องเพชร ทองคำ ทรัพย์สินต่าง ๆ ทั้งหมด กระเป๋าถือและกุญแจตู้นิรภัยของเจ้ามรดกทั้งหมดที่จำเลยยึดถือไว้คืนแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความในชั้นนี้ให้
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนายสิริกับนางระเบียบ นายสิริถึงแก่ความตายเมื่อปี 2536 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554 นางระเบียบทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2557 นางระเบียบถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางระเบียบตามคำสั่งศาล
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทมีผลสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1654 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าความสามารถของผู้ทำพินัยกรรมนั้น ให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ทำพินัยกรรมเท่านั้น แต่พยานโจทก์ทั้งสองได้แก่โจทก์ที่ 2 นายไกรฤกษ์ นางศาตพรและนางปภาวีเบิกความลอย ๆ ว่า ก่อนทำพินัยกรรมนางระเบียบป่วยทางจิต หลง ๆ ลืม ๆ และมีอาการหวาดระแวงโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ส่วนคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากนายแพทย์สุวิทย์และนายแพทย์พงศธรแพทย์ผู้ตรวจรักษานางระเบียบที่เบิกความถึงอาการป่วยของนางระเบียบภายหลังจากนางระเบียบทำพินัยกรรมฉบับพิพาทแล้วหลายเดือน ส่วนจำเลยนอกจากตัวจำเลยแล้วยังได้ความว่าร้อยเอกโกวิทย์ พยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมฉบับพิพาทว่าได้พิมพ์พินัยกรรมตามที่นางระเบียบแจ้ง ขณะทำพินัยกรรมนางระเบียบมีใบรับรองแพทย์มาแสดงซึ่งนายแพทย์สุวิทย์พยานโจทก์ทั้งสองก็รับรองว่าพยานเป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์ให้นางระเบียบจริง รับรองว่านางระเบียบมีสุขภาพแข็งแรงตามอายุ มีสติสัมปชัญญะดี ใบรับรองแพทย์ดังกล่าวออกให้ในวันที่ 10 มกราคม 2554 ก่อนนางระเบียบทำพินัยกรรมฉบับพิพาทไม่ถึง 20 วัน นอกจากนี้นายแพทย์สุวิทย์ยังเบิกความว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ได้ตรวจร่างกายนางระเบียบ นางระเบียบมีอาการปกติดี จนหลังจากนั้น 6 เดือน จึงทราบว่านางระเบียบมีอาการทางจิต พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าขณะทำพินัยกรรมฉบับพิพาทนางระเบียบมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ไม่ได้เป็นบุคคลวิกลจริตและทำพินัยกรรมฉบับพิพาทโดยความสมัครใจ
โจทก์ทั้งสองฎีกาประการต่อไปว่า นางระเบียบทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเกินส่วนของตน พินัยกรรมจึงไม่มีผลบังคับ ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในประเด็นนี้เป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ในประเด็นนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่านางระเบียบทำพินัยกรรมฉบับพิพาทยกทรัพย์สินทั้งหมดของนางระเบียบให้แก่ผู้รับพินัยกรรม ไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกเกินส่วนของตน โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าทรัพย์สินตามพินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายสิริกับนางระเบียบจึงเป็นทรัพย์สินของนายสิริครึ่งหนึ่งซึ่งตกได้แก่โจทก์ทั้งสอง นางระเบียบไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์ดังกล่าวแก่ผู้รับพินัยกรรม พินัยกรรมจึงไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองไม่ได้โต้แย้ง คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
โจทก์ทั้งสองฎีกาประการต่อไปว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับพิพาทข้อ 1.7 เป็นโมฆะเพราะผู้รับพินัยกรรมไม่อาจทราบตัวแน่นอนนั้น เห็นว่า ในประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 1.7 ระบุว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 เสียชีวิตให้แบ่งเงินฝากในบัญชีเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน คือบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หน่วยงานการกุศลเพื่อการศึกษา และสาธารณประโยชน์และเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มีสังฆทาน ธรรมทาน วิหารทาน เป็นต้น ซึ่งการกำหนดให้พินัยกรรมข้อนี้มีผลบังคับ เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายอันมีลักษณะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน โดยข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนนี้จะมีผลใช้บังคับต่อเมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตาย แต่ขณะที่นางระเบียบทำพินัยกรรมนั้นโจทก์ที่ 1 ยังไม่ถึงแก่ความตาย เงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้ส่งผลเสียก่อนเวลาที่นางระเบียบถึงแก่ความตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อนี้จึงมีผลบังคับนับแต่โจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1674 วรรคสอง ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 1.7 ไม่ใช่กำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของนางระเบียบ เพราะด้วยเหตุว่าพินัยกรรมเขียนไว้ให้มีผลเมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตาย อันเป็นการกำหนดการเผื่อตายของโจทก์ที่ 1 และข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 1.7.2 และ 1.7.3 ไม่ระบุถึงตัวบุคคลผู้รับพินัยกรรมที่ชัดเจน ข้อกำหนดพินัยกรรมส่วนนี้จึงใช้บังคับไม่ได้ เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทข้อ 1.6 ที่ระบุว่าให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกโดยได้ให้ค่าตอบแทนตามสมควร ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่ชัดเจนว่าเท่าใด จึงไม่มีผลบังคับนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องจึงเป็นข้อที่ไม่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พินัยกรรมฉบับพิพาทมีผลสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอนำส่งผลคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวัน ที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยคดีนี้ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การที่มารดาโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีจำเลยเพื่อให้จำเลยเป็นผู้ดูแลและจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามคำสั่งมารดาโจทก์ ไม่ใช่เป็นการโอนเงินให้จำเลยโดยเสน่หาอันจะทำให้เงินดังกล่าวตกเป็นสิทธิของจำเลย แต่จำเลยกลับนำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ส่วนตัว อันเป็นการเบียดบังทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกนั้น เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรม ประเด็นแห่งคดีนี้จึงมีเพียงว่าพินัยกรรมของผู้ตายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทมีผลสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมาย ข้อที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาใช้ประกอบการวินิจฉัยจึงไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีนี้ อย่างไรก็ตามการที่ศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก คุณสมบัติของผู้ร้องย่อมถือเป็นสาระสำคัญ ดังนั้นชอบที่โจทก์จะไปยื่นข้อเท็จจริงนี้ในคดีขอจัดการมรดกเพื่อศาลจะได้วินิจฉัยต่อไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ