คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ผู้เยาว์ อันมีผลให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่โจทก์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน บิดามารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องเป็นผู้ทำนิติกรรมแทนโจทก์ และเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่บังคับไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1566 และมาตรา 1574 (12) เมื่อได้ความว่า ฉ. ยายของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายของโจทก์โดยไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยขณะนั้นโจทก์มีจำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง การที่ ฉ. ซึ่งมิได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 ตามลำพัง จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงไม่ระงับไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางภาวนา และนายเกตุ เข้ามาเป็นจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยร่วมที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 60,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดไม่เกิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลชั้นต้นเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 มาสอบถามว่าจะเข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ 2 หรือไม่ ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงประกอบคำร้องว่า การดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์เพราะโจทก์ต้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย และขอให้ศาลจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คดีเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แล้ว เมื่อคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงไม่จำต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับการจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยร่วมที่ 1 เป็นมารดาของโจทก์ ขณะเกิดเหตุโจทก์อายุ 15 ปีเศษ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 81 – 2699 ฉะเชิงเทรา มีจำเลยที่ 2 รับประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2549 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 1 จอดรถบรรทุกดังกล่าวไว้ริมถนนศาลาแดง 7 อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมาโจทก์ขับรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กตฉ ฉะเชิงเทรา 974 มาชนท้ายรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสและความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามคดีหมายเลขแดงที่ 558/2550 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุด ในส่วนของจำเลยที่ 1 ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทโดยจอดรถในลักษณะกีดขวางทางเดินรถ และไม่มีแสงสว่างจากโคมไฟฟ้าหรือแสงสว่างอื่นใดให้ผู้ขับรถอื่นจะได้เห็นรถบรรทุกที่จำเลยที่ 1 จอดได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร เป็นเหตุให้โจทก์ขับรถจักรยานยนต์มาชนท้ายรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 โจทก์กระแทกท้ายรถบรรทุก แล้วตกจากรถจักรยานยนต์ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน สำหรับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์จึงยุติไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า เหตุเกิดจากความประมาทของโจทก์ด้วยหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายประมาทด้วยเนื่องจากโจทก์ขับรถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์และขับรถด้วยความเร็ว 50 ถึง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในทางเดินรถที่มีคนพลุกพล่าน นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ ก็ถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์ขับรถจักรยานยนต์มาชนท้ายรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยประมาท เพราะการกระทำโดยประมาทหรือไม่จะต้องพิจารณาว่า โจทก์กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และโจทก์อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ ดังนั้นการที่โจทก์ขับรถจักรยานยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่ จึงมิใช่การกระทำโดยประมาท และแม้โจทก์จะเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วประมาณ 50 ถึง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เมื่อพิจารณาบริเวณที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นที่จอดรถบรรทุกแล้ว จะเห็นได้ว่าถนนที่เกิดเหตุเป็นทางตรง สองข้างทางเป็นไร่นาและสวนสลับกับต้นไม้ใหญ่ ถนนที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ทางเดินรถที่มีคนพลุกพล่าน การที่โจทก์ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วดังกล่าวตามพฤติการณ์เช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงในทางเดินรถที่มีคนพลุกพล่านดังที่อ้างมาในฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จอดรถบรรทุกในบริเวณที่ไม่มีแสงสว่างจากโคมไฟฟ้า หรือแสงสว่างอื่นในลักษณะกีดขวางทางเดินรถ และไม่จัดให้มีแสงสว่างจากโคมไฟฟ้าหรือแสงสว่างเพื่อให้ผู้ขับรถอื่นจะได้เห็นรถบรรทุกที่จำเลยที่ 1 จอดได้โดยชัดแจ้ง จึงเป็นการยากที่โจทก์ซึ่งขับรถจักรยานยนต์ตามมาในช่องเดินรถดังกล่าวจะมองเห็น และขับหลบหลีกหรือห้ามล้อไม่ให้ชนกับรถบรรทุกที่จำเลยที่ 1 จอดอยู่ได้ทัน เหตุจึงมิได้เกิดจากความประมาทของโจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียวนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ข้อต่อไปว่า สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ระงับไปหรือไม่ โดยจำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ และนางเฉลา ยายของโจทก์ตกลงค่าเสียหายกัน และจำเลยที่ ๑ ชำระค่าเสียหาย ๓๐,๐๐๐ บาท ให้แก่นางเฉลาตามข้อตกลงแล้ว โจทก์จึงไม่อาจนำเหตุละเมิดมาฟ้องจำเลยที่ ๑ อีก นั้น เห็นว่า เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ผู้เยาว์ อันมีผลให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่โจทก์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน บิดามารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องเป็นผู้ทำนิติกรรมแทนโจทก์ และเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่บังคับไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๖ และมาตรา ๑๕๗๔ (๑๒) เมื่อได้ความว่านางเฉลายายของโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ โดยไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๑ อีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยขณะนั้นโจทก์มีจำเลยร่วมที่ ๑ เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง การที่นางเฉลาซึ่งมิได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ ๑ ตามลำพัง จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงไม่ระงับไป ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินเป็นเงิน 50,000 บาท เหมาะสมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์มิได้ทุพพลภาพหรือเสียโฉม โจทก์เข้าศึกษาที่สถานศึกษาตามเอกสารดังกล่าวหลังจากเกิดเหตุแล้ว โจทก์จึงศึกษาเล่าเรียนได้ตามปกติ โจทก์หยุดเรียนไปเองโดยไม่ได้เกิดจากเหตุละเมิด นั้น เห็นว่า เอกสารใบรับรองสภาพการเป็นนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพของวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา โดยรับรองว่าในวันที่ออกใบรับรองดังกล่าวโจทก์มีสภาพการเป็นนักเรียน ไม่ได้แสดงว่าโจทก์เข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทราตั้งแต่เมื่อใด หรือโจทก์มีความสามารถเข้าเรียนได้ตามปกติเช่นเดียวกับบุคคลอื่น จึงฟังไม่ได้ว่าหลังเกิดเหตุแล้ว โจทก์มาสมัครเข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา เมื่อเหตุการณ์ทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองอย่างรุนแรง ร่างกายของโจทก์ไม่ปกติมีอาการมือสั่น เชื่อว่าโจทก์ไม่สามารถเรียนหนังสือได้และต้องพักการเรียนเพื่อรักษาพยาบาลอาการป่วยเจ็บ โจทก์จึงไม่ได้หยุดเรียนไปเอง การที่โจทก์ต้องหยุดการเรียนเพราะป่วยเจ็บจึงเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าโจทก์ต้องหยุดการเรียนเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บเกี่ยวกับสมองและสูญเสียฟันแท้ตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี แล้วกำหนดค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้เป็นเงิน 50,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,800 บาท แทนโจทก์

Share