แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารกำหนดสิทธิของผู้ว่าจ้างภายหลังบอกเลิกสัญญาไว้ในข้อ 13 มีสาระสำคัญว่า จำเลยมีสิทธิริบค่าจ้างที่โจทก์ดำเนินการไปแล้วแต่จำเลยยังไม่ชำระ รวมทั้งหลักประกันใดๆ ที่โจทก์มอบไว้แก่จำเลยตามสัญญา เพื่อนำมาหักชำระเป็นค่าปรับ ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการทำงานต่อไป หรือค่าเสียหายในการแก้ไขงานในระยะเวลารับประกันผลงาน ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์การก่อสร้างที่โจทก์นำมาในสถานที่ก่อสร้าง โจทก์ยินยอมให้จำเลยยึดทรัพย์สินเหล่านั้นมาขายเพื่อหักใช้หนี้ใด ๆ ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ทันทีซึ่งเป็นข้อตกลงที่แตกต่างไปจากผลของการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ข้อตกลงที่แตกต่างดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 จึงมีผลใช้บังคับได้ระหว่างโจทก์ จำเลย ผลก็คือโจทก์จะบังคับให้จำเลยยอมรับเอางานที่เสร็จบางส่วนงวดที่ 19 และ 20 อันเป็นการงานที่โจทก์ทำให้แล้วใช้เงินค่าจ้างให้ตามส่วนของงานนั้น ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 391 วรรคสาม ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 5,632,301.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 3,724,726.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 สิงหาคม 2557) เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2556 จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร 7 ชั้น 1 หลัง เป็นเงินค่าจ้างรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 45,761,010 บาท กำหนดเวลาสร้างเสร็จ 10 เดือน ครบกำหนดวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 แบ่งงานออกเป็น 25 งวด ชำระค่าจ้างตามงวดงานภายใน 15 วัน ถัดจากวันที่จำเลยได้รับใบแจ้งเบิกจ่ายพร้อมรายละเอียดของงาน เอกสารประกอบต่าง ๆ ในการจ้างเบิกแต่ละงวดที่ผ่านการตรวจสอบจากจำเลยเรียบร้อยแล้ว โจทก์ตกลงให้จำเลยหักเงินค่าจ้างแต่ละงวดในอัตราร้อยละ 5 เพื่อเป็นประกันผลงาน จำเลยตกลงคืนให้โจทก์เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 365 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับค่าจ้างงวดสุดท้าย โจทก์ก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ 18 งวด จำเลยชำระค่าจ้างโดยหักเงินประกันผลงานไว้ 1,459,116.69 บาท ต่อมาครบกำหนดแล้ว โจทก์ก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จ โจทก์จำเลยตกลงขยายระยะเวลาก่อสร้างถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 และต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2557 โจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 19 และขอเบิกค่าก่อสร้างเป็นเงิน 1,496,855.47 บาท จำเลยยังไม่ชำระให้และโจทก์ก่อสร้างงานงวดที่ 20 เสร็จบางส่วน และจำเลยไม่ชำระค่าจ้างให้เช่นกัน วันที่ 12 พฤษภาคม 2557 จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโดยยึดวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างของโจทก์ที่อยู่ในสถานที่ก่อสร้างไว้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าจ้างงวดงานที่ 19 และ 20 และค่าวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างที่จำเลยยึดไว้หรือไม่ เห็นว่า ตามทางนำสืบของจำเลย ซึ่งโจทก์ไม่นำสืบโต้แย้งหรือคัดค้านฟังได้ว่า โจทก์ผิดสัญญาโดยก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จตามกำหนด จำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้โดยชอบ ซึ่งตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารกำหนดสิทธิของผู้ว่าจ้างภายหลังบอกเลิกสัญญาไว้ในข้อ 13 มีสาระสำคัญว่า จำเลยมีสิทธิริบค่าจ้างที่โจทก์ดำเนินการไปแล้วแต่จำเลยยังไม่ชำระ รวมทั้งหลักประกันใด ๆ ที่โจทก์มอบไว้แก่จำเลยตามสัญญา เพื่อนำมาหักชำระเป็นค่าปรับ ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการทำงานต่อไป หรือค่าเสียหายในการแก้ไขงานในระยะเวลารับประกันผลงาน ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์การก่อสร้างที่โจทก์นำมาในสถานที่ก่อสร้าง โจทก์ยินยอมให้จำเลยยึดทรัพย์สินเหล่านั้นมาขายเพื่อหักใช้หนี้ใด ๆ ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ทันทีซึ่งเป็นข้อตกลงที่แตกต่างไปจากผลของการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ข้อตกลงที่แตกต่างดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151 จึงมีผลใช้บังคับได้ระหว่างโจทก์ จำเลย ผลก็คือโจทก์จะบังคับให้จำเลยยอมรับเอางานที่เสร็จบางส่วนงวดที่ 19 และ 20 อันเป็นการงานที่โจทก์ทำให้แล้วใช้เงินค่าจ้างให้ตามส่วนของงานนั้น ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 391 วรรคสาม ไม่ได้ ดังนี้ โจทก์จะเรียกให้จำเลยชำระค่าจ้างสำหรับงวดงานดังกล่าวหรือแม้กระทั่งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างได้ต่อเมื่อจำเลยสละหรือละซึ่งประโยชน์จากข้อตกลงเลิกสัญญาดังกล่าวมาแล้วโดยยอมรับเอาการงานที่โจทก์ทำให้แม้จะไม่แล้วเสร็จแต่ละงวดงานก็ตาม หรือยอมรับเอาวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างและจะชำระราคาให้ ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 19 แก่จำเลยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2557 และขอเบิกจ่ายค่าก่อสร้างจำนวน 1,496,855.47 บาท ตามหนังสือขออนุมัติเบิกจ่ายค่าก่อสร้าง ซึ่งนายวงศ์ศักดิ์ ผู้จัดการโจทก์เขียนข้อความว่า ทาง หจก.วชิระรุ่งเรืองกิจ ขอความอนุเคราะห์งานงวดที่ 19 ตอนนี้งานเสร็จไป 80% เพราะงานบางตัวติดงานส่วนอื่น ทาง หจก. วชิระรุ่งเรืองกิจขอเอางานปูกระเบื้องห้องน้ำชั้น 2 ถึง 6 มาชดเชย เพื่อนำเงินมาซื้อของทำงานส่วนอื่น ๆ เพื่อให้โครงการจบตามกำหนด นายคมศักดิ์ ที่ปรึกษาควบคุมฝ่ายก่อสร้างจำเลยก็ระบุในหนังสือขออนุมัติเบิกจ่ายค่าก่อสร้างว่า งานติดตั้งฝ้า เพดาน ยังไม่แล้วเสร็จ ผรม. ขอความอนุเคราะห์รอผลการพิจารณาความตั้งใจและท่าทีของ ผรม.ในการทำงานลงวันที่ 26 เมษายน 2557 ซึ่งนอกจากจะสอดคล้องกับบันทึกของผู้จัดการโจทก์ข้างต้นแล้ว นายชยพล กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย และนายคมศักดิ์ ยังเบิกความทำนองเดียวกันว่า นายคมศักดิ์ไปตรวจสอบสถานที่ก่อสร้าง เพื่อตรวจสอบว่า งานงวดที่ 19 โจทก์ก่อสร้างไปแล้วเสร็จประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า งานงวดดังกล่าวโจทก์ก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 72 เปอร์เซ็นต์ นายคมศักดิ์เห็นดังนั้นจึงไม่ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ตรวจสอบ และระบุความเห็นด้วยว่างานฝ้าเพดาน ยังไม่แล้วเสร็จดังกล่าวมาแล้ว ที่ฝ่ายโจทก์โดยนายวงศ์ศักดิ์ เบิกความทำนองว่า จำเลยไม่จ่ายค่าก่อสร้างงวดที่ 19 ให้เพราะจำเลยขาดสภาพคล่องทางการเงิน เมื่อโจทก์ทวงหลายครั้ง นายคมศักดิ์แจ้งว่าจะชำระให้ก่อน 1,000,000 บาท แต่ก็ไม่ชำระให้นั้น เป็นคำเบิกความที่เลื่อนลอย และขัดกับบันทึกข้อความที่นายวงศ์ศักดิ์ และนายคมศักดิ์บันทึกตอบโต้กันดังกล่าวมาแล้ว ส่วนงานงวดที่ 20 โจทก์ยังไม่ได้ส่งมอบงานเลย พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยไม่ได้สละหรือละประโยชน์ตามข้อตกลงเลิกสัญญารับเหมาโดยยอมรับงานก่อสร้างแล้วจะจ่ายค่าจ้างให้โจทก์แต่อย่างใด ส่วนวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่อยู่ในสถานที่ก่อสร้างก็เช่นกัน นายวงศ์ศักดิ์เบิกความเพียงว่า ได้ร่วมกับนายคมศักดิ์ตัวแทนของจำเลยตรวจสอบวัสดุก่อสร้างที่ยังคงเหลือ 72 รายการ เช่น กระเบื้องแกรนิต นั่งร้านเหล็ก ฯลฯ คิดเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,336,001.76 บาท และไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมรับไว้และจะชำระราคาให้แต่อย่างใด ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าก่อสร้างงวดที่ 19 และ 20 กับค่าวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ