คำวินิจฉัยที่ 55/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องเอกชนด้วยกันเองและหน่วยงานทางปกครองว่า โจทก์และบิดาของจำเลยที่ ๒ ร่วมกันซื้อที่ดินว่างเปล่า เนื้อที่ประมาณ ๒๔๐ ไร่ แบ่งกันครอบครอง เป็นสัดส่วนและทำประโยชน์ในที่ดิน ต่อมา จำเลยที่ ๑ ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์และขับไล่โจทก์ออกจากที่ดิน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือส.ป.ก. ๔ – ๐๑ แปลงที่ ๕ เนื้อที่ ๕๐ ไร่ ที่มีชื่อจำเลยที่ ๒ ถือสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลย ที่ ๒ รบกวนการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ให้การว่า สิทธิการเข้าทำประโยชน์เป็นของจำเลยที่ ๒ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การว่า การครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นการครอบครองโดยได้รับอนุญาตและครอบครองแทน มีการโอนสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ เห็นว่า มูลเหตุที่ฟ้องคดีนี้เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่บิดาของจำเลยที่ ๒ ทับซ้อนที่ดินที่โจทก์ได้รับอนุญาต ซึ่งที่ดินที่โจทก์และจำเลยที่ ๒ ต่างอ้างว่าตนเองมีสิทธิล้วนเป็นที่ดินของรัฐที่เอกชนไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใดๆ ขึ้นต่อสู้รัฐได้ การเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐในคดีนี้ต้องเป็นไปตามที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเป็นผู้ดำเนินการ และการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ดังกล่าวเป็นการอนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับอนุญาต จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ การได้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของเอกชนเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรที่กำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินไว้หลายประการ อันเป็นการแตกต่างจากการได้สิทธิในที่ดินของเอกชนตามประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีจึงมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยว่า การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔ – ๐๑ ) ให้แก่บิดาจำเลยที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

Share