แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์มีอาการแน่นหน้าอกกะทันหัน ร้าวที่วงแขน อาเจียน โจทก์ถูกนำส่งโรงพยาบาล ศ. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แพทย์ให้การรักษาด้วยยาอาการดีขึ้น ภรรยาโจทก์เห็นว่าอาการโจทก์มีลักษณะรุนแรงควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประกอบกับโจทก์เคยรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาล ซ. ซึ่งมีแพทย์ที่ชำนาญเฉพาะทาง ภรรยาโจทก์จึงติดต่อและย้ายโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ซ. ทั้งที่ได้ความว่าโรงพยาบาล ก. ซึ่งเป็นสถานพยาบาลตามสิทธิมีที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาล ศ. มากกว่าโรงพยาบาล ซ. และใช้ระยะเวลาเดินทางน้อยกว่ากัน เมื่อภรรยาและญาติโจทก์ตัดสินใจส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ซ. เพราะภรรยาและญาติโจทก์มีความเชื่อถือการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล ซ. ซึ่งโจทก์เคยรักษาที่โรงพยาบาลนี้มาก่อน การที่นำตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ซ. ซึ่งมิใช่สถานพยาบาลตามสิทธิ จึงมิใช่เป็นกรณีที่มีเหตุผลสมควรหรือจำเป็นต้องรับการบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาล ซ. ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 วรรคสอง และประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลงวันที่ 11 เมษายน 2548 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ซ.
ย่อยาว
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยนี้กับพวกรวม 14 คน ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ออกจากสารบบความแล้ว คงเหลือจำเลยนี้ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว โดยให้เรียกจำเลยที่ 1 ว่า จำเลย
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 2045/2551 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 และบังคับจำเลยจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์แก่โจทก์เป็นเงิน 361,122 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งประโยชน์ทดแทนของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 6 ที่ รง 0628/13004 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2045/2551 และให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์แก่โจทก์ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลงวันที่ 11 เมษายน 2548 ข้อ 3.2.2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของยอดเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 20 เมษายน 2552) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์อายุ 59 ปี เป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 39 และจำเลยได้ออกบัตรรับรองสิทธิให้แก่โจทก์แล้ว โดยโจทก์เลือกโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค เป็นสถานพยาบาลตามสิทธิซึ่งโจทก์เคยไปใช้บริการเพียงครั้งเดียว และโจทก์เคยรับการรักษาที่โรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์ซึ่งโจทก์เห็นว่ามีความเชี่ยวชาญ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 20.20 นาฬิกา โจทก์มีอาการปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก และอาเจียน โจทก์จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศาลายาซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด โรงพยาบาลศาลายาระบุในเวชระเบียนว่าแรกรับโจทก์มีความดันโลหิต 180/110 มิลลิเมตรปรอท ชีพจรเต้น 110 ครั้งต่อนาที แพทย์ทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบกล้ามเนื้อหัวใจตาย ให้ยาอมใต้ลิ้นดีขึ้น แต่ยังมีอาการเจ็บหน้าอกเล็กน้อย ระหว่างนั้นภรรยาโจทก์ได้โทรศัพท์ติดต่อปรึกษากับแพทย์โรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์ แล้วต่อมาได้นำโจทก์ออกจากโรงพยาบาลศาลายาเดินทางโดยรถของโรงพยาบาลไปถึงที่โรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์เวลา 22.10 นาฬิกา ตามเวชระเบียนของโรงพยาบาลเซ็นหลุยส์ระบุอาการของโจทก์ก่อนหน้าที่จะมาถึงโรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์ ว่า โจทก์มีอาการแน่นหน้าอกประมาณ 6 ชั่วโมงก่อนมา เวลา 17.30 นาฬิกา หลังกินข้าว กินกล้วย แน่นหน้าอกขึ้นมาทันที ร้าวไปที่วงแขน เหงื่อแตก หวิว อาเจียนตลอด เป็นเวลาประมาณ 30 นาที จึงให้คนงานพาไปที่โรงพยาบาลศาลายา ได้ยา ASA เคี้ยวและได้ยานอนหลับ ส่วนอาการขณะที่โรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์รับตัวไว้ ระบุว่าแรกรับชีพจรเต้น 100 ครั้งต่อนาที หายใจ 22 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิต 116/70 มิลลิเมตรปรอท อุณหภูมิ 36 องศาเซลเซียส มีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง แพทย์วินิจฉัยว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โจทก์รักษาตัวในโรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์ด้วยการฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ สวนหัวใจและใส่ Stent แล้วพักรักษาตัวตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2551 รวม 5 วัน เสียค่าบริการทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลดังกล่าวไป 361,122 บาท โดยไม่ได้แจ้งโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิทราบ สาเหตุที่นำตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์เนื่องจากโจทก์มีประวัติการรักษาอยู่แล้วและจะเป็นการสะดวก โจทก์มีประวัติเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนแล้ว แล้ววินิจฉัยว่า แม้แพทย์จะวินิจฉัยว่าอาการของโจทก์ดีขึ้นจนสามารถไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิได้แล้วก็ตาม แต่ในสถานการณ์เช่นนั้นย่อมเป็นธรรมดาที่ ภรรยาโจทก์จะต้องรักษาชีวิตของโจทก์ไว้ก่อนแม้ว่าการเดินทางไปยังโรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์จะมีระยะทาง ไกลกว่าการเดินทางไปยังสถานพยาบาลตามสิทธิก็ตาม การที่โจทก์มีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์มาก่อนก็เป็นเหตุผลที่จะทำให้โจทก์มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ทั้งโจทก์มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จำเป็นต้องรีบรักษาเพื่อป้องกันมิให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย มีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก จึงมีเหตุผลสมควรที่ไม่อาจเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิเนื่องจากกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีเหตุจะต้องเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยตามฟ้องและโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า โจทก์มีเหตุผลสมควรหรือจำเป็นที่ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์มีอาการแน่นหน้าอกกะทันหัน ร้าวที่วงแขน อาเจียน โจทก์ถูกนำส่งโรงพยาบาลศาลายาซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แพทย์ให้การรักษาด้วยยาอาการดีขึ้น ภรรยาโจทก์เห็นว่าอาการโจทก์มีลักษณะรุนแรงควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประกอบกับโจทก์เคยรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลเซ็นหลุยส์ซึ่งมีแพทย์ที่ชำนาญเฉพาะทางภรรยาโจทก์จึงติดต่อและย้ายโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ทั้งที่ได้ความว่าโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค ซึ่งเป็นสถานพยาบาลตามสิทธิมีที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลศาลายามากกว่าโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ และใช้ระยะเวลาเดินทางน้อยกว่ากัน เมื่อภรรยาและญาติโจทก์ตัดสินใจส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เพราะภรรยาและญาติโจทก์มีความเชื่อถือการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ซึ่งโจทก์เคยรักษาที่โรงพยาบาลนี้มาก่อน การที่นำตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ซึ่งมิใช่สถานพยาบาลตามสิทธิ จึงมิใช่เป็นกรณีที่มีเหตุผลสมควรหรือจำเป็นต้องรับการบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 วรรคสอง และประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลงวันที่ 11 เมษายน 2548 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์