คำวินิจฉัยที่ 143/2560

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่นักโทษเด็ดขาดยื่นฟ้องอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่ ๑ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสงขลาที่ ๒ คณะกรรมการตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๘ จังหวัดสงขลา ที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีมติว่า ผู้ฟ้องคดีไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ มติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตรวจสอบการได้รับพระราชทานอภัยโทษในกรณีของผู้ฟ้องคดี และให้มีมติให้ผู้ฟ้องคดีได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๘ เมื่อพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๘ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๒๖๑ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฐานอันเป็นที่มาแห่งการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ในการตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลแห่งท้องที่เพื่อพิจารณาออกหมายสั่งปล่อย หรือลดโทษหรือออกคำสั่งยกเลิกการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ ตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้ จึงมิใช่อำนาจทางปกครอง ทั้งผลการตรวจสอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีผลต่อการบังคับโทษตามคำพิพากษา ตามมาตรา ๒๖๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น การใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๘ จึงเป็นการใช้อำนาจที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา นอกจากนี้ การพิจารณาว่าผู้ต้องโทษหรือนักโทษเด็ดขาดรายใดอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาฐานความผิดที่ต้องโทษ กำหนดโทษตามคำพิพากษา การคำนวณโทษที่เหลืออยู่จากการลดโทษหรือการเพิ่มโทษ ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการใช้และตีความกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งศาลที่มีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและมีความเชี่ยวชาญในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้แก่ ศาลยุติธรรม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share