แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า คดีในส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (2) เป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยในปัญหาว่า คดีในส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 อยู่ในอำนาจศาลภาษีอาการกลางหรือศาลยุติธรรมอื่น ซึ่งตามมาตรา 10 วรรคสอง (เดิม) กำหนดให้ประธานศาลฎีกาแต่ผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัย ศาลภาษีอากรกลางหามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 และพิพากษายกฟ้องมานั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับคู่ความไม่ได้โต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลไว้ จึงไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาล
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าภาษีอากรค้าง 668,705.90 บาท และจำเลยที่ 2 ส่งเงินที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ 187,500 บาท จำเลยที่ 3 ส่งเงินที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ 172,500 บาท จำเลยที่ 4 และที่ 5 ส่งเงินที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบคนละ 150,000 บาท จำเลยที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ส่งเงินที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบคนละ 30,000 บาท แต่รวมแล้วไม่เกินภาษีที่ค้างชำระ 668,705.90 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าหุ้นที่จำเลยแต่ละคนยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องจำนวน 157,370.34 บาท และนับวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งแปดขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรค้างจำนวน 668,705.90 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลภาษีอากรกลางรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสงขลาได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียน โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนและต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2557 นายทะเบียนได้จดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบมูลค่าหุ้น เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ภาษีอากรค้าง 668,705.90 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ต้องส่งเงินที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า คดีในส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 เป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยในปัญหาว่า คดีในส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 อยู่ในอำนาจศาลภาษีอากรกลางหรือศาลยุติธรรมอื่น ซึ่งตามมาตรา 10 วรรคสอง (เดิม) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 กำหนดให้ประธานศาลฎีกาแต่ผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัย ศาลภาษีอากรกลางหามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 และพิพากษายกฟ้องมานั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับคู่ความไม่ได้โต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลไว้ จึงไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาล อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ชำระหนี้ค่าหุ้นที่ยังส่งใช้จำเลยที่ 1 ไม่ครบ รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ครบกำหนดตามหนังสือทวงถามของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ถือหุ้น 2,500 หุ้น ชำระค่าหุ้นแล้วร้อยละ 25 เป็นเงิน 62,500 บาท ค้างชำระ 187,500 บาท จำเลยที่ 3 ถือหุ้น 2,300 หุ้น ชำระค่าหุ้นแล้วร้อยละ 25 เป็นเงิน 87,500 บาท ค้างชำระ 172,500 บาท จำเลยที่ 4 และที่ 5 ถือหุ้นคนละ 2,000 หุ้น ชำระค่าหุ้นแล้วร้อยละ 25 เป็นเงินคนละ 50,000 บาท ค้างชำระคนละ 150,000 บาท และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ถือหุ้นคนละ 400 หุ้น ชำระค่าหุ้นแล้วร้อยละ 25 เป็นเงินคนละ 10,000 บาท ค้างชำระคนละ 30,000 บาท เจ้าพนักงานของโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 นำเงินค้างชำระค่าหุ้นมาชำระหนี้ โดยได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ให้ใช้สิทธิดังกล่าวแล้วแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย เป็นเหตุให้โจทก์เสียประโยชน์ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และ 235 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ได้รับหนังสือทวงถามของโจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดจึงต้องรับผิดชำระค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบของแต่ละคนพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่พ้นกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าหุ้นที่ยังใช้ไม่ครบ 187,500 บาท จำเลยที่ 3 ชำระเงินค่าหุ้นที่ยังใช้ไม่ครบ 172,500 บาท จำเลยที่ 4 และที่ 5 ชำระเงินค่าหุ้นที่ยังใช้ไม่ครบคนละ 150,000 บาท และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ชำระเงินค่าหุ้นที่ยังใช้ไม่ครบคนละ 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนด 21 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ได้รับหนังสือขอให้นำเงินมูลค่าหุ้นไปชำระแต่รวมแล้วต้องไม่เกินภาษีค้าง 668,705.90 บาท ให้แก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 มกราคม 2558) ต้องไม่เกิน 157,370.34 บาท ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ