แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ โดยการคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานจึงเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 หากเดือนใดโจทก์ไม่สามารถขายสินค้าได้จำเลยไม่จำต้องจ่ายค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าให้แก่โจทก์ ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้รับค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าเป็นประจำทุกเดือนก็หาทำให้เงินดังกล่าวมิใช่ค่าจ้างไม่ เมื่อค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าที่จำเลยค้างชำระนั้นเป็นค่าจ้างที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี และแม้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีมาด้วยก็ตาม แต่เมื่อศาลแรงงานภาค 4 เห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความก็อาจจะพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
ค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าโจทก์จะได้รับทุกสิ้นเดือนของเดือนถัดไป โดยไม่ต้องรอว่าจะเก็บเงินจากลูกค้าได้หรือไม่ แม้โจทก์ไม่ทวงถามค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าของเดือนสิงหาคม 2556 แต่ค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าก็จะถึงกำหนดชำระให้แก่โจทก์ในสิ้นเดือนกันยายน 2556 จึงไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงิน 357,930 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 4 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 357,930 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขายสินค้าในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่าง ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 20,000 บาท และตกลงจะจ่ายค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าทุกวันสิ้นเดือนของเดือนถัดไปโดยไม่ต้องรอว่าจะเก็บเงินจากลูกค้าได้หรือไม่ โจทก์ลาออกเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 ระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2556 โจทก์ขายสินค้าให้จำเลยรวมหลายรายการ มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าเป็นเงินจำนวน 357,930 บาท ในวันสิ้นเดือนของเดือนถัดไป ซึ่งจำเลยยังไม่ได้จ่ายให้แก่โจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า ค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าดังกล่าวเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยค่าจ้างค้างจ่ายระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กรณีนี้ค่าจ้างถึงกำหนดที่จะจ่ายให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2556 ถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ เห็นสมควรกำหนดให้แม้ว่าโจทก์ไม่มีคำขอในส่วนนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ค่าตอบแทนการขายหรือค่านายหน้าโจทก์จะได้รับต่อเมื่อขายสินค้าได้ มิใช่เป็นเงินที่โจทก์จะได้รับทุกเดือนจึงมิใช่ค่าจ้างนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทำงานในตำแหน่งพนักงานขายสินค้าเคมีเกษตร โดยมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในการขายจากยอดขายจึงถือได้ว่าค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์โดยการคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานจึงเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 และเมื่อค่าตอบแทนในการขายเป็นเงินที่จ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่โจทก์ทำย่อมมีความหมายอยู่แล้วว่าหากเดือนใดโจทก์ไม่สามารถขายสินค้าเคมีเกษตร จำเลยก็ไม่จำต้องจ่ายค่าตอบแทนการขายหรือค่านายหน้าให้แก่โจทก์ ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้รับค่าตอบแทนในการขายเป็นประจำทุกเดือน ก็หาทำให้เงินดังกล่าวมิใช่ค่าจ้างไม่ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่าโจทก์ลาออกเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 จึงไม่มีค่าจ้างที่ถึงกำหนดในเดือนกันยายน 2556 จำเลยจึงไม่ผิดนัดนั้น คดีนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าค่าตอบแทนในการขายเป็นค่าจ้าง และข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 4 ว่าเงินดังกล่าวถึงกำหนดชำระเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2556 อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 4 รับฟังเป็นยุติ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรือไม่ เห็นว่า เมื่อค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าที่จำเลยค้างชำระนั้นเป็นค่าจ้างที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และแม้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี มาด้วยก็ตาม แต่เมื่อศาลแรงงานภาค 4 เห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ก็อาจจะพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ที่ศาลแรงงานภาค 4 พิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ด้วยนั้น จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน