คำวินิจฉัยที่ 33/2560

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนว่า มีผู้กระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ต่อมาทราบว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองพื้นที่บุกรุกดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีแสดงข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารหลักฐาน จากนั้นได้มีคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ที่ ๑๖๐/๒๕๕๘ สั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากป่าสงวนแห่งชาติและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นการกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดอาญาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ อันเป็นการเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแล้ว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๕ แห่งพ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นการออกคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อจะนำไปสู่การบังคับให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติตามพ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา หรือหากผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ก็จะมีบทกำหนดโทษทางอาญา ตามมาตรา ๓๓ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มิใช่เป็นบทกำหนดโทษในทางปกครอง ดังนั้น การออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการให้ผู้ฟ้องคดีออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ภายหลังจากที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว จึงเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะเพื่อการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญา อันอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์เป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การฟ้องขอให้ตรวจสอบว่าคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินป่าเขาภูหลวงมิใช่ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอีกส่วนหนึ่ง จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share