แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ยกคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่ไม่ดำเนินการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องนั้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสอง (เดิม) แต่ศาลฎีกาพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ดังกล่าวแล้ว กรณีมีเหตุสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามมาตรา 26 วรรคสี่ (เดิม) จึงให้รับอุทธรณ์ของผู้ร้องไว้พิจารณา
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ซึ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ผู้คัดค้านมีอำนาจดำเนินการ คือ ทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 ซึ่งรวมถึงทรัพย์ทุกประเภทของลูกหนี้ที่มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายตามมาตรา 109 (1) ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะเป็นหลักประกันแก่เจ้าหนี้รายใดหรือไม่ ผู้คัดค้านย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินดังกล่าวของลูกหนี้เข้ากองทรัพย์สินเพื่อจัดการได้ เว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา 110 วรรคสาม หรือผู้คัดค้านได้สละสิทธิทรัพย์สินดังกล่าว การที่ผู้คัดค้านจะสละสิทธิทรัพย์สินใดของลูกหนี้ต้องปรากฏว่าผู้คัดค้านได้รับความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้ตามมาตรา 145 (3) แล้ว และกรณีที่ลูกหนี้ได้รับการปลดจากล้มละลายตามมาตรา 81/1 เมื่อเจ้าหนี้ยังมิได้รับชำระหนี้ครบถ้วน ผู้คัดค้านก็ยังคงมีอำนาจในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีอยู่ก่อนที่จะได้รับการปลดจากล้มละลายเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายต่อไปได้ ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์หลักประกันเป็นทรัพย์ที่ลูกหนี้มีมาก่อนล้มละลาย และไม่ปรากฏว่ากรรมการเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบให้ผู้คัดค้านสละสิทธิในที่ดินดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 145 (3) ผู้คัดค้านจึงยังคงต้องมีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมจัดการทรัพย์สินดังกล่าว เมื่อผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเลือกที่จะใช้สิทธิมายื่นคำร้องให้ผู้คัดค้านดำเนินการบังคับบุริมสิทธิของผู้ร้องกับที่ดินดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงต้องรับคำร้องเพื่อดำเนินการสอบสวนสิทธิของผู้ร้อง และยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดต่อไป
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาด วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้ ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2548 มีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และวันที่ 7 กันยายน 2551 ลูกหนี้ได้รับการปลดจากล้มละลาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านยึดทรัพย์หลักประกันที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 97, 548 ถึง 551, 556 ถึง 568 และ 571 ถึง 583 ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี รวม 32 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จำนองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ที่ค้างชำระเป็นเวลา 5 ปี แก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องยึดทรัพย์และขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันเสมอไป ผู้คัดค้านพิจารณาแล้วเห็นว่าทรัพย์หลักประกันของลูกหนี้มีมูลค่าน้อยกว่ายอดหนี้ของผู้ร้อง การยึดและขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันในกรณีนี้จึงไม่เป็นประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ คำสั่งของผู้คัดค้านไม่กระทบสิทธิในฐานะเจ้าหนี้จำนองของผู้ร้อง ทั้งผู้ร้องยังได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเพื่อบังคับจำนอง คำสั่งของผู้คัดค้านชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 บัญญัติเพียงให้ผู้คัดค้านตรวจดูทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเท่านั้น มิได้บังคับให้ต้องดำเนินการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันให้แก่เจ้าหนี้เสมอไป เมื่อปรากฏว่าทรัพย์จำนองของลูกหนี้มีราคาน้อยกว่าภาระหนี้ของผู้ร้อง การดำเนินการยึดทรัพย์จำนองจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ทั้งผู้ร้องยื่นคำร้องมาภายหลังลูกหนี้ได้รับการปลดจากล้มละลาย และผู้ร้องยังคงมีทางอื่นที่จะดำเนินการบังคับกับทรัพย์จำนองได้ตามกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ยกคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้าน ที่ไม่ดำเนินการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง นั้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสอง (เดิม) แต่ศาลฎีกาพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ดังกล่าวแล้ว กรณีมีเหตุสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามมาตรา 26 วรรคสี่ (เดิม) จึงให้รับอุทธรณ์ของผู้ร้องไว้พิจารณา คดีนี้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า วันที่ 10 สิงหาคม 2533 ลูกหนี้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 3,500,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี โดยลูกหนี้ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 97, 548 ถึง 551, 556 ถึง 568 และ 571 ถึง 583 ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี รวม 32 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ในวงเงินรวม 2,504,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ภายหลังทำสัญญาลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ และเมื่อลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ก็มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ต่อมาผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและจำนองมาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิมของลูกหนี้ และได้ยื่นฟ้องลูกหนี้ต่อศาลจังหวัดตลิ่งชัน ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 1647/2558
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องมีว่า ผู้คัดค้านมีหน้าที่ยึดและขายทอดตลาดทรัพย์ประกันเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ซึ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ผู้คัดค้านมีอำนาจดำเนินการ คือ ทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 ซึ่งรวมถึงทรัพย์ทุกประเภทของลูกหนี้ที่มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายตามมาตรา 109 (1) ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะเป็นหลักประกันแก่เจ้าหนี้รายใดหรือไม่ ผู้คัดค้านย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินดังกล่าวของลูกหนี้เข้ากองทรัพย์สินเพื่อจัดการได้ เว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา 110 วรรคสาม หรือผู้คัดค้านได้สละสิทธิทรัพย์สินดังกล่าว การที่ผู้คัดค้านจะสละสิทธิทรัพย์สินใดของลูกหนี้ได้ต้องปรากฏว่า ผู้คัดค้านได้รับความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้ตามมาตรา 145 (3) แล้ว และกรณีที่ลูกหนี้ได้รับการปลดจากล้มละลายตามมาตรา 81/1 เมื่อเจ้าหนี้ยังมิได้รับชำระหนี้ครบถ้วน ผู้คัดค้านก็ยังคงมีอำนาจในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีอยู่ก่อนที่จะได้รับการปลดจากล้มละลายเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายต่อไปได้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 97, 548 ถึง 551, 556 ถึง 568 และ 571 ถึง 583 ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นทรัพย์ที่ลูกหนี้มีมาก่อนล้มละลาย และไม่ปรากฏว่ากรรมการเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบให้ผู้คัดค้านสละสิทธิในที่ดินดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 145 (3) ผู้คัดค้านจึงยังคงต้องมีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมจัดการทรัพย์สินดังกล่าว ดังนั้น เมื่อผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเลือกที่จะใช้สิทธิมายื่นคำร้องให้ผู้คัดค้านดำเนินการบังคับบุริมสิทธิของผู้ร้องกับที่ดินดังกล่าว ผู้คัดค้านจำต้องรับคำร้องเพื่อดำเนินการสอบสวนสิทธิของผู้ร้อง และยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดต่อไป การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ผู้คัดค้านรับคำร้องเพื่อดำเนินการสอบสวนสิทธิของผู้ร้อง และยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ