แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554 ได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 48/2545 วินิจฉัยว่า ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 29 มาตรา 30 และมาตรา 80 ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การพิจารณาว่า กรณีจะต้องมีการคืนเงินภาษีตามที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554 หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 วินิจฉัยว่า มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่ง ป.รัษฎากร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 30 แต่เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 เป็นกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง และตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 55 วรรคสี่ ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยของศาลแก่ผู้ร้องและให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่านเท่านั้น ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวคงทำให้ ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่เวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคือวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 จึงไม่มีผลทำให้ ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร ตามหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรที่ กค 0706.12/6/325 ลงวันที่ 11 มกราคม 2556 ของจำเลยที่ 3 เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ตามหนังสือคำวินิจฉัยที่ กค 0706/ก5/2088 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2556 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชำระเงินภาษีอากรจำนวน 213,055.02 บาท คืนให้แก่โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์มีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ชื่อนางมนธนัช โจทก์เป็นผู้มีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) ส่วนภริยามีเงินได้ตามมาตรา 40 (2) โจทก์ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี โดยนำเงินได้พึงประเมินของภริยาโจทก์มารวมคำนวณเป็นเงินได้ของโจทก์แล้วยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเสียภาษีเงินได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ในปีภาษี 2552 จำนวน 228,169.20 บาท ปีภาษี 2553 จำนวน 224,424.90 บาท และปีภาษี 2554 จำนวน 233,768.61 บาท ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 48/2545 ลงวันที่ 12 กันยายน 2545 ว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 29 มาตรา 30 และมาตรา 80 ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2550 เป็นต้นมา ต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 43 ประกอบมาตรา 29 และมาตรา 30 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 30 วันที่ 29 ตุลาคม 2555 โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้ชำระไว้แล้วในปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554 โดยอ้างว่าชำระไว้เกินเป็นจำนวน 66,682.14 บาท จำนวน 57,603.03 บาท และจำนวน 88,769.85 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 3 เห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอคืนเงินภาษีจำนวนดังกล่าว จึงมีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรไปถึงโจทก์ โจทก์อุทธรณ์การแจ้งไม่คืนเงินภาษีของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 เห็นว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าว การแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรของจำเลยที่ 3 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ไปยังโจทก์
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีเพียงประการเดียวว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 มีผลทำให้ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57เบญจ ไม่มีผลใช้บังคับ ขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวผูกพันองค์กรอื่นของรัฐ ซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 ด้วย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 216 วรรคห้า และทำให้ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่มีผลใช้บังคับมานับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีผลใช้บังคับเป็นต้นมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554 ได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 48/2545 วินิจฉัยว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 29 มาตรา 30 และมาตรา 80 ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาว่า กรณีจะต้องมีการคืนเงินภาษีตามที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554 หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 วินิจฉัยว่า มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 30 แต่เมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 เป็นกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้องและตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 55 วรรคสี่ ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้องให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยของศาลแก่ผู้ร้องและให้ถือว่าวันที่ลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่านเท่านั้น ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวคงทำให้ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่เวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคือ วันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป ด้วยเหตุที่วินิจฉัยไว้ดังกล่าวข้างต้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 จึงไม่มีผลทำให้ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554 ต่อจำเลยที่ 1 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ