คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3491/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องมีคำขอให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เนื่องจากผู้คัดค้านไม่ชำระเงินให้แก่ผู้ร้องเป็นการขอบังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์เป็นการร้องขอที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับเกินคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำพิพากษาบังคับให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องตามคำชี้ขาดอันเป็นที่สุด บันทึกแก้ไขคำชี้ขาดอันเป็นที่สุด และใบรับรองของนายทะเบียนของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดถึงวันยื่นคำร้องขอรวมเป็นเงินจำนวน 1,217,867.49 ดอลลาร์ออสเตรเลีย พร้อมกับดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,217,867.49 ดอลลาร์ออสเตรเลีย นับตั้งแต่วันถัดจากวันยื่นคำร้องขอจนถึงวันที่ผู้คัดค้านชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องจนครบถ้วน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ และยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ ให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 716,228 ดอลลาร์ออสเตรเลีย แก่ผู้ร้องพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5.33 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับจากวันที่ 11 มีนาคม 2554 (ค.ศ.2011) ซึ่งเป็นวันที่เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการดังกล่าวจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 (ค.ศ.2012) ซึ่งเป็นวันที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด แต่ไม่เกินจำนวน 53,235.81 ดอลลาร์ออสเตรเลีย รวมเป็นเงินไม่เกินจำนวน 769,463.81 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ให้ผู้คัดค้านชำระค่าใช้จ่ายในคดีแก่ผู้ร้องจำนวน 390,893.62 ดอลลาร์ออสเตรเลีย รวมเป็นเงินที่ผู้คัดค้านต้องชำระไม่เกินจำนวน 1,160,357.43 ดอลลาร์ออสเตรเลีย และให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยตามกฎหมายไทยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนไม่เกิน 769,463.81 ดอลลาร์ออสเตรเลีย นับแต่วันที่ 6 กันยายน 2555 อันเป็นวันถัดจากวันที่ผู้คัดค้านได้รับบันทึกคำแก้ไขคำวินิจฉัยถึงที่สุดจากศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันของต้นเงินจำนวน 390,893.62 ดอลลาร์ออสเตรเลีย นับแต่วันที่ 19 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านได้รับใบรับรองของนายทะเบียน ศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายจนถึงวันที่ผู้คัดค้านจะชำระหนี้แก่ผู้ร้องเสร็จสิ้น กรณีชำระเป็นเงินบาท ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงิน ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราถัวเฉลี่ยเช่นว่าก่อนวันดังกล่าว ในกรณีธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ใช้อัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความให้ 150,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย ผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 ผู้คัดค้านแต่งตั้งผู้ร้องเป็นตัวแทนแต่เพียงผู้เดียวในการจัดจำหน่ายข้าวขาวและข้าวหอมมะลิไทยในประเทศเครือรัฐออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ เป็นเวลาสามปีนับแต่วันที่ 20 มกราคม 2552 ตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทน (Sole Agency Agreement) พร้อมคำแปล ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 18 ระบุว่า “ข้อพิพาทใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาฉบับนี้ รวมถึงข้อสงสัยใดๆ ที่เกี่ยวกับการมีอยู่ การมีผลสมบูรณ์ หรือการสิ้นสุดลง ให้เสนอและหาข้อยุติตามข้อบังคับของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ (ข้อบังคับเอสไอเอซี) ที่ใช้บังคับอยู่ ณ ขณะนั้น โดยข้อบังคับดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจากการอ้างอิงถึงในข้อนี้” ต่อมาผู้ร้องเกิดข้อพิพาทกับผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์พิจารณา ผู้ร้องและผู้คัดค้านเข้าร่วมกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 อนุญาโตตุลาการของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์มีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องจำนวน 693,917 ดอลลาร์อสเตรเลีย โดยมีรายละเอียดดังนี้ (1) จำนวน 209,050 ดอลลาร์ออสเตรเลีย สำหรับรายได้ที่ผู้ร้องไม่ได้รับในส่วนของข้าวที่มีแมลงและมอดปนอยู่ (infested rice) ที่มีต้นทุนการจำหน่าย (2) จำนวน 157,943 ดอลลาร์ออสเตรเลีย สำหรับการสูญเสียผลกำไรจากข้าวที่มีแมลงและมอดปนอยู่ซึ่งมีต้นทุนการจำหน่ายทั้งหมดโดยไม่รวมค่าขนส่งไปยังไอจีเอ ดิสตริบิวชัน (3) จำนวน 293,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการสูญเสียผลกำไรอันเป็นผลต่อเนื่อง (4) จำนวน 33,924 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียกคืนข้าวที่มีแมลงและมอดปนอยู่ และให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวน 693,917 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ให้แก่ผู้ร้องในอัตราดอกเบี้ยหนี้ตามคำพิพากษาที่ใช้บังคับในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ (ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 5.33 ต่อปี) นับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่มีคำชี้ขาด กับให้ผู้คัดค้านชำระค่าใช้จ่ายตามกฎหมายที่เกิดขึ้นจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ รวมถึงค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดของผู้ร้อง ทั้งนี้ให้นายทะเบียนของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์เป็นผู้คำนวณภาษีจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวในกรณีที่คู่ความไม่สามารถตกลงกันได้ตามสำเนาคำชี้ขาด ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 พร้อมคำแปล ต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2555 ผู้ร้องร้องขอให้อนุญาโตตุลาการของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์แก้ไขคำชี้ขาด โดยผู้ร้องแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแล้วตามสำเนาไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ผู้คัดค้านมิได้เข้าร่วมในกระบวนพิจารณาด้วย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 อนุญาโตตุลาการของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์แก้ไขคำชี้ขาด โดยแก้ไขจำนวนค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียกคืนข้าวที่มีแมลงและมอดปนอยู่จากจำนวน 33,924 ดอลลาร์ออสเตรเลีย เป็นจำนวน 56,235 ดอลลาร์ออสเตรเลีย แก้ไขค่าเสียหายรวมจากจำนวน 693,917 ดอลลาร์ออสเตรเลีย เป็นจำนวน 716,228 ดอลลาร์ออสเตรเลีย และแก้ไขต้นเงินที่ใช้คำนวณดอกเบี้ยจากจำนวน 693,917 ดอลลาร์ออสเตรเลีย เป็นจำนวน 716,228 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ในส่วนค่าใช้จ่ายตามกฎหมายที่เกิดขึ้นจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการรวมถึงค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดนายทะเบียนของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์กำหนดให้ผู้ร้องจำนวน 390,893.62 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ตามสำเนาหนังสือรับรองของนายทะเบียน (Registrar’s Certificate) พร้อมคำแปล ประเทศไทยและประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับและบังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ (Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards, New York, June 10, 1958)
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 หรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกแก้ไขคำชี้ขาดอันเป็นที่สุดฉบับลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ผู้คัดค้านต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องจำนวน 716,228 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ค่าเสียหายดังกล่าวประกอบด้วยค่าขาดรายได้เนื่องจากข้าวมีแมลงและมอดปนอยู่ ค่าสูญเสียผลกำไรจากข้าวที่มีแมลงและมอดปนอยู่ (ยกเว้นค่าขนส่งข้าวไปยังบริษัทไอจีเอดิสตริบิวชัน พีทีวาย. แอลทีดี.) ค่าสูญเสียผลกำไรอันเป็นผลต่อเนื่องซึ่งผู้ร้องประสบเป็นเวลา 1 ปีครึ่งโดยประมาณ และค่าใช้จ่ายในการเรียกคืนสินค้าข้าวที่มีแมลงและมอดปนอยู่ และให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยในอัตราหนี้ตามคำพิพากษาที่ใช้บังคับในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ (ปัจจุบันคือร้อยละ 5.33 ต่อปี) จากต้นเงินจำนวน 716,228 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่การที่ผู้คัดค้านไม่กระทำการส่งมอบสินค้าข้าวที่มีคุณภาพเป็นที่น่าพอใจและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ให้แก่ผู้ร้องโดยผู้คัดค้านทราบอยู่แล้วว่าผู้ร้องต้องนำสินค้าข้าวดังกล่าวไปจำหน่ายต่อ เป็นผลโดยตรงให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ส่วนค่าเสียหายที่กำหนดในสัญญาแต่งตั้งตัวแทน เป็นกรณีที่คู่สัญญากำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าหากเกิดกรณีตามที่ระบุไว้ มิได้หมายความว่าความรับผิดระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านจำกัดเฉพาะกรณีที่กำหนดไว้เท่านั้นและไม่ต้องรับผิดต่อกันในกรณีอื่น ๆ อีก เพราะความรับผิดของคู่สัญญาย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายการค่าเสียหายที่ผู้ร้องเรียกร้องตามที่ปรากฏในคำชี้ขาด ข้อ 1.1.7 แล้ว เห็นได้ว่ารายการค่าเสียหายและค่าเสียหายที่อนุญาโตตุลาการกำหนดดังกล่าวไม่เกินกว่าที่ผู้ร้องเรียกร้อง การกำหนดค่าเสียหายของอนุญาโตตุลาการศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งนี้ไม่จำต้องอ้างถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เพราะไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะวินิจฉัยว่าคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ หรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ส่วนกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งในคำชี้ขาดอันเป็นที่สุด (Final Award) ฉบับลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 กำหนดให้ผู้คัดค้านชำระค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย (legal costs) ที่เกิดขึ้นตามสมควรจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ รวมถึงค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดตามสมควร (reasonable out of pocket expenses) ของผู้ร้อง โดยให้นายทะเบียนของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์เป็นผู้คำนวณภาษีจากค่าใช้จ่ายเช่นว่านั้น หากคู่พิพาทไม่สามารถตกลงกันได้ดังปรากฏในหนังสือรับรองของนายทะเบียน ข้อ 1 นั้น เห็นว่า ตามข้อบังคับของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 (Arbitration Rules of the Singapore International Arbitration Centre, SIAC Rules (4th Edition, 1 July 2010)) ข้อ 33 คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจสั่งในคำชี้ขาดให้คู่พิพาทฝ่ายหนึ่งชำระค่าใช้จ่ายตามกฎหมายและค่าใช้จ่ายอื่น (the legal or other costs) ทั้งหมดหรือบางส่วนแก่คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งได้ เมื่อพิจารณาประกอบข้อ 30 ค่าธรรมเนียมและเงินวางประกัน (Fees and Deposits) และข้อ 32 ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของคณะอนุญาโตตุลาการ (Tribunal’s Fees and Expenses) เห็นได้ว่าอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์เกี่ยวข้องกับการกำหนดจำนวนเงินในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้น การที่คณะอนุญาโตตุลาการสั่งให้นายทะเบียนของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์เป็นผู้คำนวณภาษีจากค่าใช้จ่ายตามกฎหมายและค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดนั้น จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะกระทำได้ และก่อนที่นายทะเบียนของศูนย์อนุญาโตตุลาการดังกล่าวจะคำนวณภาษีจากค่าใช้จ่ายในส่วนนี้นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏจากหนังสือรับรองของนายทะเบียน ข้อ 8 และข้อ 9 ว่าในวันที่ 26 มีนาคม 2556 และวันที่ 28 มีนาคม 2556 ศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ได้ขอให้ผู้คัดค้านส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมพิจารณาเรื่องการคำนวณภาษีจากค่าใช้จ่ายตามกฎหมายและค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด (taxation hearing) ในวันที่ 2 เมษายน 2556 แต่ไม่ได้รับความเห็นใด ๆ จากผู้คัดค้าน นายทะเบียนของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์จึงฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา (oral submission) จากฝ่ายผู้ร้องพร้อมกับพิจารณาคำแถลงและเอกสารของคู่พิพาททั้งสองฝ่ายแล้ว นายทะเบียนจึงคำนวณภาษีจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้คัดค้านพึงต้องชำระให้แก่ผู้ร้อง ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านสละสิทธิไม่เข้าร่วมการพิจารณาดังกล่าว ถือว่าผู้คัดค้านไม่ประสงค์จะตกลงกับผู้ร้องและยินยอมให้นายทะเบียนแห่งศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์คิดคำนวณภาษีจากค่าใช้จ่ายตามกฎหมายและค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดที่ผู้คัดค้านต้องชำระให้แก่ผู้ร้องได้ตามที่เห็นสมควร อีกทั้งการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศย่อมมีค่าใช้จ่ายแตกต่างจากการดำเนินการในประเทศไทย การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งในคำชี้ขาดกำหนดให้ผู้คัดค้านชำระค่าใช้จ่ายตามกฎหมายที่เกิดขึ้นตามสมควรจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการรวมถึงค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดตามสมควรแก่ผู้ร้องโดยให้นายทะเบียนศูนย์อนุญาโตตุลาการดังกล่าวเป็นผู้คำนวณภาษีจากค่าใช้จ่ายเช่นว่านั้นในกรณีที่ผู้คัดค้านกับผู้ร้องไม่สามารถตกลงกันได้จึงชอบด้วยข้อบังคับของศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ ฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 แล้ว การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ดังกล่าวย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้บังคับคำชี้ขาดตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี ในส่วนของคำพิพากษาที่ให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยตามกฎหมายไทยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนไม่เกิน 769,463.81 ดอลลาร์ออสเตรเลีย นับแต่วันที่ 6 กันยายน 2555 อันเป็นวันถัดจากวันที่ผู้คัดค้านได้รับบันทึกคำแก้ไขคำวินิจฉัยถึงที่สุดจากศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันของต้นเงินจำนวน 390,893.62 ดอลลาร์ออสเตรเลีย นับแต่วันที่ 19 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านได้รับใบรับรองของนายทะเบียน ศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายจนถึงวันที่ผู้คัดค้านจะชำระหนี้แก่ผู้ร้องเสร็จสิ้นนั้น เห็นว่า ตามบันทึกแก้ไขคำชี้ขาดอันเป็นที่สุดฉบับลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 กำหนดให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวน 716,228 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ให้แก่ผู้ร้องในอัตราดอกเบี้ยหนี้ตามคำพิพากษาที่ใช้บังคับในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ (ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 5.33 ต่อปี) นับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่มีคำชี้ขาด ดังนั้น การที่ผู้ร้องมีคำขอให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เนื่องจากผู้คัดค้านไม่ชำระเงินให้แก่ผู้ร้องจึงเป็นการขอบังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์เป็นการร้องขอที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับเกินคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวได้ แม้ผู้คัดค้านมิได้อุทธรณ์ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และ 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่พิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยตามกฎหมายไทยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนไม่เกิน 769,463.81 ดอลลาร์ออสเตรเลีย นับแต่วันที่ 6 กันยายน 2555 อันเป็นวันถัดจากวันที่ผู้คัดค้านได้รับบันทึกคำแก้ไขคำวินิจฉัยถึงที่สุดจากอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันและของต้นเงินจำนวน 390,893.62 ดอลลาร์ออสเตรเลีย นับแต่วันที่ 19 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านได้รับใบรับรองของนายทะเบียนศูนย์อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายจนถึงวันที่ผู้คัดค้านจะชำระหนี้แก่ผู้ร้องเสร็จสิ้นนั้นเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share