คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ตามบทนิยามของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 มิได้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบในการผลิตข่าวแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้นำสืบพยานให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับข่าวตามที่โจทก์นำมาฟ้องอย่างไร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทได้
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์มติชนออนไลน์ เป็นผู้นำเสนอข่าวสารทางระบบคอมพิวเตอร์ในนามของตนเอง คือเว็บไซต์มติชนออนไลน์ จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้ให้บริการตามบทนิยามของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และการที่เว็บไซต์มติชนออนไลน์เสนอข่าวใด ๆ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของและเป็นผู้ให้บริการ ยินยอมให้มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้มอบให้บุคคลอื่นควบคุมดูแลบริหารจัดการเว็บไซต์โดยจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องกับข่าวดังกล่าวเลยหาได้ไม่ เพราะบทกฎหมายข้างต้นมีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์จะควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ให้บริการโดยเฉพาะ
โจทก์มิได้เป็นแกนนำหรือเข้าร่วมการชุมนุมตามข่าวที่ปรากฏ ถือได้ว่าข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวโจทก์เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ เมื่อข่าวดังกล่าวระบุว่าการชุมนุมมีการนำรถบรรทุกสิบล้อมาปิดถนน อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้รถทุกประเภทไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งตามข่าวระบุว่าเป็นแกนนำการชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้บริการยินยอมให้มีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 (1)
หนังสือพิมพ์รายวันมติชนของจำเลยที่ 1 เผยแพร่และวางจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ส่วนเว็บไซต์มติชนออนไลน์ก็เผยแพร่โดยระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวได้ทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าการกระทำตามฟ้องเกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร โจทก์จึงใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 83 ให้จำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาของศาลในระบบคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์มติชนออนไลน์และหนังสือพิมพ์มติชน (รายวัน) ในหน้าแรกสุดเป็นเวลา 7 วัน
ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต และจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้ให้บริการ จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนกับฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาตามฟ้อง ข้อ 2.1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 30,000 บาท ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาตามฟ้อง ข้อ 2.2 ปรับ 30,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 40,000 บาท กับให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพากษาโดยย่อให้ได้ใจความในระบบคอมพิวเตอร์เว็บไซต์มติชนออนไลน์และในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันในหน้าแรกสุดเป็นเวลา 7 วัน ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เคยรับราชการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ได้รับพระราชทานยศพันตำรวจเอก ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหลายแห่งจนเกษียณอายุราชการ ต่อมาโจทก์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตูล อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และประกอบอาชีพทนายความ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ ออกหนังสือพิมพ์รายวัน และประกอบกิจการสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันมติชนและสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2556 มีการเสนอข่าวในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ว่า มีกลุ่มชาวสวนยางจากหลายอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช และจากจังหวัดพัทลุงกว่า 1,000 คน สมทบกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มในพื้นที่ได้เดินทางมารวมตัวที่บริเวณสี่แยกตำบลควนหนองหงส์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อประท้วงให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางพารา โดยมีพันตำรวจเอกพิทักษ์ ร่วมเป็นแกนนำ รายละเอียดตามข่าวในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ หลังจากนั้นมีการเสนอข่าวการประท้วงโดยมีรายละเอียดทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นแกนนำการประท้วงในหนังสือพิมพ์รายวันมติชน ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม 2556 ตามข่าวหนังสือพิมพ์มติชน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันมติชนและสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์มติชนออนไลน์ เมื่อมีการเสนอข่าวเกษตรกรชุมนุมประท้วงในหนังสือพิมพ์มติชน และในเว็บไซต์มติชนออนไลน์มีข้อความทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามฟ้อง เห็นว่า สำหรับข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์รายวันมติชน นั้น ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นบทกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ ได้กำหนดบทนิยามไว้ในมาตรา 4 ว่า ผู้พิมพ์ หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ ผู้โฆษณา หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า บรรณาธิการ หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหา ข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ตามบทนิยามดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของบุคคลข้างต้นเหล่านี้ในกิจการหนังสือพิมพ์ไว้โดยชัดเจน โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกิจการหนังสือ พิมพ์มิได้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบในการผลิตข่าวแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้นำสืบพยานให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับข่าวอย่างไร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามาในส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับข่าวที่ลงในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ให้บริการตามกฎหมาย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 ให้บทนิยามผู้ให้บริการว่า หมายความว่า (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเองหรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น (2) ฯลฯ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์มติชนออนไลน์ เป็นผู้นำเสนอข่าวสารทางระบบคอมพิวเตอร์ในนามของตนเองคือ เว็บไซต์มติชนออนไลน์ จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้ให้บริการตามบทนิยามของบทกฎหมายดังกล่าว และการที่เว็บไซต์มติชนออนไลน์เสนอข่าวใดๆ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของและเป็นผู้ให้บริการยินยอมให้มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้มอบให้บุคคลอื่นควบคุมดูแลบริหารจัดการเว็บไซต์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องกับข่าวดังกล่าวเลยหาได้ไม่ เพราะบทกฎหมายข้างต้นมีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์จะควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ให้บริการโดยเฉพาะ นอกจากนี้ที่เว็บไซต์ของจำเลยที่ 1 เสนอข่าวระบุว่าโจทก์เป็นแกนนำในการที่เกษตรกรชาวสวนยางพาราและชาวสวนปาล์มชุมนุมปิดถนนให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางพารา โดยกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงมีการนำรถบรรทุกสิบล้อมาปิดถนน จนรถทุกประเภทไม่สามารถสัญจรไปมาได้ เป็นเหตุให้เส้นทางทั้งขาขึ้นและขาล่องมีรถติดยาวไม่ต่ำกว่า 2 กิโลเมตรนั้น โจทก์และนายก้องเกียรติ พยานโจทก์ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวด้วยเบิกความยืนยันว่า โจทก์มิได้เข้าร่วมการชุมนุมแต่อย่างใด และนายฐากูร กรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 1 รับว่า การลงข่าวโจทก์เป็นแกนนำการชุมนุมเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดไป ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์มิได้เป็นแกนนำหรือเข้าร่วมการชุมนุมตามข่าวที่ปรากฏ ถือได้ว่าข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวโจทก์เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ เมื่อข่าวดังกล่าวระบุว่าการชุมนุมมีการนำรถบรรทุกสิบล้อมาปิดถนน อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้รถทุกประเภทไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งตามข่าวระบุว่าเป็นแกนนำการชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงได้ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ข่าวระบุแต่เพียงว่าโจทก์เป็นแกนนำ ซึ่งมีความหมายว่า โจทก์เป็นแกนนำกลุ่มเกษตรกร ไม่ใช่แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่ประท้วงปิดถนนแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า ตามข่าวมิได้มีการแยกการกระทำของแกนนำดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง จึงย่อมฟังได้ว่าโจทก์เป็นแกนนำทั้งการชุมนุมประท้วงและการปิดถนนด้วย ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น พยานโจทก์ที่นำสืบมาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้บริการยินยอมให้มีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชนอันเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามาในส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ส่วนนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 1 โต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนในปัญหาดังกล่าว จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า มูลคดีมิได้เกิดในเขตอำนาจศาลชั้นต้น เพราะผู้ใดจะนำหนังสือพิมพ์มติชนตามฟ้องไปให้โจทก์อ่านที่ใด หรือโจทก์จะอ่านข่าวเว็บไซต์มติชนออนไลน์ตามฟ้องที่ใด จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบและเป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 ให้ต้องเดือดร้อน เห็นว่า หนังสือพิมพ์รายวันมติชนของจำเลยที่ 1 เผยแพร่และวางจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ส่วนเว็บไซต์มติชนออนไลน์ก็เผยแพร่โดยระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวได้ทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าการกระทำตามฟ้องเกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร โจทก์จึงใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 (1) วางโทษปรับ 30,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงปรับ 20,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share