คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10098/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2554 และนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นใหม่เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา และต่อมาจำเลยได้ยื่นฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยเลือกที่จะใช้สิทธิฎีกาเพื่อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแล้ว ศาลชั้นต้นต้องงดการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คือ การทำคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับใหม่เพื่อรอให้คู่ความดำเนินการใช้สิทธิโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
จำเลยฎีกาว่า โจทก์อ้างส่งรายงานกระบวนพิจารณาคดีของศาลแพ่ง ฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2551 ตามท้ายอุทธรณ์โดยมิได้นำสืบในศาลชั้นต้น และส่งสำเนาให้จำเลย ศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารดังกล่าวไม่ชอบนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทำคำฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคมิใช่คำฟ้องคดีแพ่งสามัญ ถือว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายที่บังคับไว้ กระบวนพิจารณาต่อจากนั้นศาลแพ่งต้องมีคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องนั้นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าว กรณีจึงถือได้ว่าคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุศาลแพ่งไม่รับฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคมิใช่เพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นกรณีศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โดยรับฟังคำเบิกความของ ส. ซึ่งเบิกความว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยศาลอุทธรณ์เพียงนำเอาสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่ง ฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2551 ท้ายอุทธรณ์มาประกอบเพื่อยืนยันว่าคำเบิกความของ ส. ซึ่งเบิกความว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยศาลอุทธรณ์เพียงนำเอาสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่ง ฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2551 ท้ายอุทธรณ์มาประกอบเพื่อยืนยันว่ามีน้ำหนักเนื่องจากเบิกความสอดคล้องกับเอกสารดังกล่าว ศาลอุทธรณ์มิได้นำเอกสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานดังที่จำเลยฎีกา
ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต่อมาว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดค่าสินไหมทดแทน บทกฎหมายห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันเกิดวินาศภัย โจทก์จึงต้องยื่นฟ้องคดีภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2551 โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2551 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความสองปี แต่อายุความครบกำหนดในระหว่างการส่งคำฟ้องให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีใหม่ต่อศาลชั้นต้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่อศาลแพ่งอ่านคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งถึงที่สุด ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 8 พร้อมกับคำสั่งไม่รับฟ้องให้จำหน่ายคดีในวันที่ 22 กันยายน 2551 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 ตุลาคม 2551 ยังไม่เกินหกสิบวัน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย 293,647 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 252,600 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ ในระหว่างระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ให้จำเลยชำระเงิน 247,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2549 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเสียก่อนว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ ในระหว่างที่จำเลยยื่นขยายระยะเวลาฎีกาเพื่อใช้สิทธิโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2554 และนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นใหม่ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 แต่ก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นใหม่ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาและต่อมาจำเลยได้ยื่นฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยเลือกที่จะใช้สิทธิฎีกาเพื่อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแล้ว ศาลชั้นต้นต้องงดการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คือ การทำคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับใหม่เพื่อรอให้คู่ความดำเนินการใช้สิทธิฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์อ้างส่งรายงานกระบวนพิจารณาคดีของศาลแพ่ง ฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2551 ท้ายอุทธรณ์ โดยมิได้นำสืบในศาลชั้นต้นและส่งสำเนาให้จำเลย ศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารดังกล่าวไม่ชอบนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทำคำฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคมิใช่คำฟ้องคดีแพ่งสามัญถือว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายที่บังคับไว้ กระบวนพิจารณาต่อจากนั้นศาลแพ่งต้องมีคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องนั้นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าว กรณีจึงถือได้ว่าคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุศาลแพ่งไม่รับฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค มิใช่เพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นกรณีศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โดยรับฟังคำเบิกความของนายสิทธา ซึ่งเบิกความว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยศาลอุทธรณ์เพียงนำเอาสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่ง ฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2551 ท้ายอุทธรณ์มาประกอบเพื่อยืนยันว่าคำเบิกความของนายสิทธามีน้ำหนักเนื่องจากเบิกความสอดคล้องกับเอกสารดังกล่าว ศาลอุทธรณ์มิได้นำเอกสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต่อมาว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดค่าสินไหมทดแทน บทกฎหมายห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันเกิดวินาศภัย โจทก์จึงต้องยื่นฟ้องคดีภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2551 โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2551 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความสองปี แต่อายุความได้ครบกำหนดไปในระหว่างการส่งคำฟ้องให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีใหม่ต่อศาลชั้นต้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่อศาลแพ่งอ่านคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งถึงที่สุด ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 8 พร้อมกับมีคำสั่งไม่รับฟ้องให้จำหน่ายคดีในวันที่ 22 กันยายน 2551 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 ตุลาคม 2551 ยังไม่เกินหกสิบวัน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาที่ว่า เหตุชนกันเกิดจากความประมาทของฝ่ายใด และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด จำเลยไม่นำพยานมาสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เสียค่าซ่อมรถไป 192,600 บาท สำหรับค่าขาดประโยชน์กำหนดให้ตามที่โจทก์ขอ ส่วนค่าเสื่อมราคาเห็นสมควรกำหนดให้ 5,000 บาท รวมจำเลยต้องรับผิดเป็นเงิน 247,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถพ่วงและรถบรรทุกหัวลากที่ทำละเมิดต่อโจทก์รับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด จำเลยเป็นเพียงผู้รับประกันภัยค้ำจุน ซึ่งมีความผูกพันที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์เพียงกำหนดวงเงินความเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดโดยมิได้ระบุให้จำเลยต้องร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้ทำละเมิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด ประกอบกับหนี้หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์ไม่ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้มาก่อนที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 และให้จำเลยชำระเงิน 247,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 ตุลาคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share