คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7620/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายหนังสือสัญญาจ้าง ข้อ 3 ระบุความว่า พนักงานตกลงที่จะทำงานให้กับบริษัทเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันเข้าทำงาน หากพนักงานมีความประสงค์จะลาออกก่อนครบกำหนดเวลา พนักงานยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทไม่น้อยกว่าเงินเดือนในเดือนสุดท้ายที่พนักงานได้รับ ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงกำหนดความเสียหายเพื่อการผิดนัดไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นข้อตกลงเบี้ยปรับเมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และ 380 ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้โดยให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง กล่าวคือศาลแรงงานกลางจะต้องพิเคราะห์ทางได้เสียของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เฉพาะความเสียหายที่คำนวณได้เป็นเงินเท่านั้น นอกจากนี้เบี้ยปรับยังเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย จึงชอบที่จะพิจารณามูลเหตุการผิดสัญญาของลูกหนี้ว่าเป็นการจงใจกระทำผิดสัญญาเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งด้วยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางจะใช้ดุลพินิจไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้เสียเลยหาได้ไม่เพราะไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราใดที่ให้อำนาจงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้นศาลแรงงานกลางจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่จุดมุ่งหมายของข้อสัญญาที่ให้ทำงานครบ 2 ปี ความจำเป็นที่ต้องทำสัญญาไว้เช่นนี้ ความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ต่อจำเลย ความเสียหายอื่นที่มิใช่ทรัพย์สิน รวมตลอดถึงเหตุผลที่โจทก์ผิดสัญญาจ้างแรงงานว่าเป็นการกระทำไปโดยจงใจเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่เสียก่อน แล้วใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายกำหนดเบี้ยปรับเป็นจำนวนพอสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 21,000 บาท และเงินประกันการทำงาน 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 116,638.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้าง 21,000 บาท และคืนเงินประกัน 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ตกลงทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตามสัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายหนังสือสัญญาจ้างพนักงานรายเดือน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 21,000 บาท โจทก์ทำงานกับจำเลยไม่ครบ 2 ปี ตามสัญญาและได้ลาออก จำเลยไม่ยอมจ่ายค่าจ้างประจำเดือนสิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายให้แก่โจทก์และไม่ยอมคืนเงินประกันความเสียหายในการทำงานที่เรียกเก็บจากโจทก์ไว้จำนวน 3,000 บาท แล้ววินิจฉัยว่า กรณีวัตถุดิบแผ่นหินสังเคราะห์แตกหักเสียหายตามฟ้องแย้งนั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนความรับผิดตามสัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายหนังสือสัญญาจ้างพนักงานรายเดือน ข้อ 3 ที่โจทก์จะต้องทำงานให้กับจำเลยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันเข้าทำงานมีข้อความต่อไปว่า หากพนักงานมีความประสงค์จะลาออกก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาฉบับนี้ พนักงานยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับจำเลยไม่น้อยกว่าเงินเดือนในเดือนสุดท้ายที่พนักงานได้รับ จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 ซึ่งบัญญัติว่า ความเสียหายที่ต้องชดใช้แก่กันต้องเป็นค่าเสียหายซึ่งตามปกติย่อมเกิดขึ้น เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงความเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ได้ทำงานกับจำเลยครบ 2 ปี จึงไม่อาจคำนวณค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ได้ โจทก์ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างประจำเดือนสิงหาคม 2554 และคืนเงินประกันความเสียหายในการทำงานแก่โจทก์
ที่จำเลยอุทธรณ์ทำนองว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาสอดคล้องกับคำเบิกความของนายธนพัฒน์และนายปิยะพยานจำเลย ทำให้พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า โจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายกรณีทำงานไม่ครบกำหนด 2 ปี ตามสัญญาจ้างหรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาจ้างแรงงานที่พิพาทเป็นข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับที่ไม่สูงเกินส่วนซึ่งจำเลยไม่จำต้องสืบกำหนดไว้ล่วงหน้าและในค่าเสียหายเมื่อโจทก์ทำงานไม่ครบ 2 ปี เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยมีสิทธิได้รับค่าเสียหายในฐานะที่เป็นเบี้ยปรับ ไม่ใช่เป็นค่าเสียหายซึ่งตามปกติย่อมเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 ที่จะไม่กำหนดให้ หากมิได้นำสืบให้เห็นว่าได้รับความเสียหายดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย เห็นว่า สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายหนังสือสัญญาจ้างพนักงานรายเดือน ข้อ 3 ความว่า พนักงานตกลงที่จะทำงานให้กับบริษัทเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันเข้าทำงาน หากพนักงานมีความประสงค์จะลาออกก่อนครบกำหนดเวลา พนักงานยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทไม่น้อยกว่าเงินเดือนในเดือนสุดท้ายที่พนักงานได้รับ ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงกำหนดความเสียหายเพื่อการผิดนัดไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นข้อตกลงเบี้ยปรับเมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และ 380 ซึ่งไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ถึงความเสียหายที่แท้จริงโดยพยานหลักฐานอันใดอีก แต่หากเบี้ยปรับนั้น กำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ โดยให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ศาลแรงงานกลางจะต้องพิเคราะห์ทางได้เสียของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เฉพาะความเสียหายที่คำนวณได้เป็นเงินเท่านั้น นอกจากนี้เบี้ยปรับยังเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย จึงชอบที่จะพิจารณามูลเหตุการณ์ผิดสัญญาของลูกหนี้ว่าเป็นการจงใจกระทำผิดสัญญาเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งด้วยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางจะใช้ดุลพินิจไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้เสียเลยหาได้ไม่ เพราะไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราใดที่ให้อำนาจงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยไม่นำสืบให้เห็นถึงความเสียหายที่โจทก์ไม่ไปทำงานกับจำเลยครบ 2 ปี จึงไม่คำนวณค่าเสียหายให้ แล้วพิพากษายกฟ้องแย้ง จึงมีผลเท่ากับศาลแรงงานกลางงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมดไม่ได้ใช้ดุลพินิจกำหนดเบี้ยปรับเป็นจำนวนพอสมควร ดังนั้นจึงให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่จุดมุ่งหมายของข้อสัญญาที่ให้ทำงานครบ 2 ปี ความจำเป็นที่ต้องทำสัญญาไว้เช่นนี้ ความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ต่อจำเลย ความเสียหายอื่นที่มิใช่ทรัพย์สิน รวมตลอดถึงเหตุผลที่โจทก์ผิดสัญญาจ้างแรงงานว่าเป็นการกระทำไปโดยจงใจเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่เสียก่อน แล้วใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายกำหนดเบี้ยปรับเป็นจำนวนพอสมควร ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดในเรื่องเบี้ยปรับ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยในประเด็นพร้อมกับกำหนดจำนวนเบี้ยปรับ แล้วพิพากษาประเด็นนี้ใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share