คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1555/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องของผู้ให้เช่าซื้อในการติดตามเอาทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อคืน ไม่ใช่เรื่องที่บุคคลจำพวกที่ค้าในการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่าซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) หากแต่เป็นเรื่องที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 200 บาท ไม่เกิน10,000 บาท จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน2518 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากโจทก์ไป 1 คัน ในราคา13,500 บาท ในวันทำสัญญาจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินแล้ว 5,000 บาทส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นรายเดือน ๆ ละ 400 บาท รวม 21 เดือน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ดังปรากฏตามสำเนาเอกสารสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันท้ายฟ้องจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน2518 และนำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2521

คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยเพียงว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า มูลกรณีฟ้องเกิดจากการเช่าซื้อ โจทก์ละเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความเรียกร้อง ศาลฎีกาได้พิจารณาปัญหาข้อนี้แล้ว เห็นว่าวัตถุประสงค์ของสัญญาเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 เป็นเพียงคำมั่นที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกลงว่าจะขายทรัพย์สิน หรือว่าจะให้ทรัพย์สินที่ให้เช่านั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยมีเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนตามที่ตกลงกัน ดังนั้นตราบใดที่จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่าก็ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้ออยู่ตราบนั้น ในกรณีที่มีการผิดสัญญาและได้มีการเลิกสัญญากันแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิที่จะริบเงินที่ได้รับชำระไว้กับมีสิทธิที่จะกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่านั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 ทั้งมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายระหว่างที่ยังไม่ได้รับทรัพย์สินนั้นคืน แต่หามีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระนั้นไม่ ดังนั้นในกรณีดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับที่ว่าบุคคลจำพวกที่ค้าในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่า ซึ่งมีอายุความกำหนดไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) ฟ้องโจทก์กรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเรียกเอาทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อคืน ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องติดตามเอาทรัพย์คืนได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันเลิกสัญญา คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”

พิพากษายืน

Share