แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์อ้างว่าได้จ่ายเงินในการซ่อมแซมแก้ไขงานที่จำเลยส่งมอบคิดเป็นเงิน 1,829,089.80 บาท เมื่อตามสัญญาจำเลยตกลงที่จะรับประกันผลงานเป็นเวลา 1 ปี หลังจากส่งมอบ จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของงานต่อโจทก์ แต่ปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องต่อโจทก์เป็นเงินจำนวนเท่าใดนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดความเสียหายและค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับ กรณีจึงเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการผิดสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 ซึ่งบัญญัติให้อำนาจแก่ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้ลูกหนี้ชดใช้ มิใช่ตามจำนวนที่โจทก์คิดคำนวณมาเอง เมื่อโจทก์นำมูลหนี้ค่าว่าจ้างงานล่วงหน้าที่จ่ายให้แก่จำเลยซึ่งก็ยังมีการโต้แย้งกันอยู่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาว่าจ้างรับเหมาช่วงหรือไม่ และมูลหนี้ค่าสินไหมทดแทนจากการผิดสัญญาดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โดยที่โจทก์ยังมิได้นำมูลหนี้ไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง เพื่อให้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษากำหนดจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ก่อนแต่อย่างใด จึงเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างโรงงานชื่อว่า “โครงการโรงงานอุตสาหกรรมเอลโม” กับบริษัทไทมาเอดะ คอร์เปอเรชั่น จำกัด โดยเป็นการจ้างเหมารวมค่าก่อสร้าง 36,000,000 บาท ตามใบสั่งซื้อ ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยให้รับเหมาช่วงงานออกแบบและก่อสร้างดังกล่าว ตกลงคิดมูลค่างานเป็นเงิน 35,500,000 บาท จำเลยต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 210 วัน หลังจากได้รับชำระเงินงวดแรก โจทก์ตกลงจ่ายเงินให้จำเลยในอัตราร้อยละ 20 ในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือตกลงจ่ายทุกวันที่ 30 ของแต่ละเดือนโดยคิดตามความสำเร็จของงาน จำเลยตกลงรับประกันผลงานเป็นเวลา 1 ปี หลังจากก่อสร้างเสร็จ ตามสัญญาว่าจ้างพร้อมคำแปล ภายหลังทำสัญญา โจทก์และจำเลยตกลงยกเลิกงานระบบและงานไฟฟ้า จำเลยส่งมอบงานให้โจทก์ และได้รับเงินไปจากโจทก์ระหว่างวันที่ 2 เมษายน 2550 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2550 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 28,595,651.48 บาท ตามรายการเบิกเงิน ใบแจ้งหนี้ / ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน และใบวางบิล
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่เห็นว่า ในส่วนที่โจทก์อ้างว่าระหว่างเดือนกรกฎาคม 2550 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2550 จำเลยได้ขอให้โจทก์ดำเนินงานบางรายการแทนจำเลย ได้แก่ งานติดตั้งสปีดชัตเตอร์ มูลค่า 620,000 บาท งานติดตั้งโครงเหล็ก หลังคาโรงงาน มูลค่า 589,998 บาท และงานห้องน้ำ งานโลโก้ งานประตูไม้ มูลค่า 194,824 บาท รวมเป็นเงิน 1,404,822 บาท เมื่อพิจารณาโดยเทียบงานดังกล่าวกับรายการเบิกเงินจากการดำเนินงานของจำเลยตามที่โจทก์ได้จ่ายค่าจ้างให้จำเลยพบว่า ในการจ่ายค่าจ้างแต่ละงวดตามสัญญา โจทก์จะจ่ายเงินให้แก่จำเลยตามความสำเร็จของงานเป็นสำคัญ ดังนี้ ย่อมแสดงว่าในแต่ละงวดที่จำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์ เป็นการจ่ายให้ตามงานที่จำเลยทำสำเร็จจริง ข้อเท็จจริงปรากฏตามใบแจ้งหนี้ / ใบกำกับภาษี และใบเสร็จรับเงิน การจ่ายเงินให้แก่จำเลยในงวดที่ 9 และงวดที่ 10 เมื่อวันที่ 22 และวันที่ 31 สิงหาคม 2550 มีรายการที่ระบุว่า หักเงินสำหรับเอส.เฟรม และหักงานโครงสร้างหลังคา จำนวน 400,000 บาท และ 403,480 บาท ตามลำดับ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงตามใบแสดงรายการผู้รับงานสร้างโครงสร้างหลังคาให้โจทก์ คือ บริษัทเอสเฟรม เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กรณีจึงน่าเชื่อว่าโจทก์ได้หักเงินค่างานติดตั้งโครงเหล็กหลังคาโรงงานออกจากงานที่จำเลยต้องดำเนินการตามสัญญาและมิได้จ่ายค่าจ้างในส่วนนี้ให้แก่จำเลย ส่วนงานติดตั้งสปีดชัตเตอร์ และงานในส่วนห้องน้ำ งานโลโก้ งานประตูไม้ ได้ความตามที่นายยาสุยูกิ กรรมการของโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า งานอื่นๆ นอกจากนี้ งานห้องน้ำ งานป้าย (โลโก้) ค่าประตู และผนังห้องน้ำสำเร็จรูปเป็นงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาว่าจ้าง จึงเชื่อว่างานดังกล่าวมิได้เป็นงานตามสัญญาที่จำเลยต้องดำเนินการ และจำเลยมิได้รับเงินในส่วนนี้จากโจทก์ สำหรับที่โจทก์อ้างว่าได้จ่ายเงินในการซ่อมแซมแก้ไขงานที่จำเลยส่งมอบเป็นเงิน 1,829,089.80 บาท นั้น เมื่อตามสัญญาจำเลยตกลงที่จะรับประกันผลงานเป็นเวลา 1 ปี หลังจากส่งมอบ จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของงานต่อโจทก์ แต่ปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องต่อโจทก์เป็นเงินจำนวนเท่าใดนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดความเสียหายและค่าความเสียหายที่โจทก์ควรได้รับ กรณีจึงเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการผิดสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 ซึ่งบัญญัติให้อำนาจแก่ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้ลูกหนี้ชดใช้ มิใช่ตามจำนวนที่โจทก์คิดคำนวณมาเอง เมื่อโจทก์นำมูลหนี้ค่าว่าจ้างงานล่วงหน้าที่จ่ายให้แก่จำเลยซึ่งก็ยังมีการโต้แย้งกันอยู่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาว่าจ้างรับเหมาช่วงหรือไม่ และมูลหนี้ค่าสินไหมทดแทนจากการผิดสัญญาดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โดยที่โจทก์ยังมิได้นำมูลหนี้ไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง เพื่อให้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษากำหนดจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ก่อนแต่อย่างใด จึงเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ