แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่ภาพแพร่เสียงรายการโทรทัศน์กับจำเลยซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต จัดซื้อ และจัดหารายการโทรทัศน์ ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะนำรายการโทรทัศน์จากจำเลยมาแพร่เสียงแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของโจทก์ โดยจำเลยรับรองต่อโจทก์ว่าจำเลยเป็นเจ้าของสิทธิในรายการโทรทัศน์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อสัญญาดังกล่าวจึงถือเป็นสาระสำคัญ เพราะหากจำเลยไม่ใช่ผู้มีสิทธิในภาพยนตร์ที่อนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิ โจทก์ย่อมไม่ทำสัญญากับจำเลยอย่างแน่แท้ เมื่อบริษัท ส. แจ้งแก่โจทก์ว่าพบการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่ตนมีสิทธิจัดจำหน่ายและหรือเผยแพร่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยถือเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โจทก์และจำเลยจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์จากการแพร่เสียงแพร่ภาพภาพยนตร์ที่จำเลยยืนยันว่ามีสิทธิในภาพยนตร์นั้นแล้วอนุญาตให้โจทก์แพร่เสียงแพร่ภาพตามสัญญาดังกล่าว ทั้งที่จำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ จึงทำให้โจทก์ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจแพร่เสียงแพร่ภาพได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณ เพราะบุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ความน่าเชื่อถือในวงการธุรกิจโทรคมนาคม และความเชื่อมั่นในกลุ่มลูกค้าของโจทก์ นอกจากนี้การที่โจทก์ต้องชำระค่าทนายความและค่าใช้จ่ายให้แก่สำนักงานกฎหมาย ก็เป็นผลโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยดังกล่าวจนทำให้โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญา จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณเนื่องจากการถูกดำเนินคดีอาญา และค่าเสียหายที่เป็นค่าทนายความและค่าใช้จ่ายทางกฎหมายให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากความเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์จำนวน 10,000,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ ค่าเสียหาย และค่าใช้จ่ายจำนวน 17,803,859 บาท ค่าสิทธิตามสัญญาที่โจทก์ได้เสียไปแล้วจากการต้องหาคู่สัญญารายใหม่แทนจำเลยจำนวน 33,053,182.49 บาท ค่าทนายความและที่ปรึกษากฎหมายและค่าใช้จ่ายจากกรณีที่โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาจำนวน 233,325.81 บาท รวมเป็นค่าเสียหายจำนวนทั้งสิ้น 61,090,367.30 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมและธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่องใกล้เคียงกันกับกิจการโทรคมนาคม เช่น การให้บริการรับ-ส่งสัญญาณโทรทัศน์และสัญญาณบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม โจทก์โดยนางศุภจีและนายวุฒิ กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์มอบอำนาจให้นายปราโมทย์ ดำเนินคดีแทนโจทก์ โจทก์เป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในนาม “DTV” จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการซื้อและจัดจำหน่ายซึ่งลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ จัดจำหน่ายภาพยนตร์ผ่านทางระบบการตอบรับสมาชิกทางสื่อโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 จำเลยอนุญาตให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในการแพร่ภาพแพร่เสียงรายการโทรทัศน์ผ่านช่องทางการแพร่ภาพแพร่เสียงของ “DTV” เฉพาะในช่องรายการ “HDTV-2” หรือ ช่อง “D-movie HD” หรือช่อง “HD-TV1” มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2555 ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่ภาพแพร่เสียงรายการโทรทัศน์ เลขที่ “DTV-HD-1201” และบันทึกความร่วมมือการหาผลประโยชน์จากสื่อของ “DTV” เลขที่ “DTV-HD 1201A” โจทก์นำภาพยนตร์ออกเผยแพร่สู่สาธารณชนโดยแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของโจทก์ในช่องรายการ “HDTV-2” เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 บริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า พบการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่บริษัทมีสิทธิจัดจำหน่ายหรือเผยแพร่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยทางช่องรายการ “HDTV2” ของโจทก์ โดยโจทก์มิได้รับอนุญาตจากบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตามหนังสือเรื่องขอให้ชี้แจงเรื่องสิทธิการเผยแพร่ภาพยนตร์ โจทก์สอบถามไปยังจำเลย ต่อมาจำเลยแจ้งว่ารายชื่อภาพยนตร์ตามเอกสารแนบท้ายนั้นมีรายชื่อบางส่วนที่ยังไม่เสร็จกระบวนการซื้อลิขสิทธิ์ พร้อมกันนี้จำเลยแจ้งรายชื่อภาพยนตร์ที่ไม่ได้รับสิทธิในการออกอากาศ และขอให้โจทก์ส่งรายชื่อภาพยนตร์ก่อนออกอากาศผ่านช่องดีทีวีล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน ให้แก่จำเลยเพื่อตรวจสอบสิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชนก่อนการออกอากาศอีกครั้ง ตามหนังสือเรื่องขอแจ้งรายชื่อภาพยนตร์ที่ไม่ได้รับสิทธิในการแพร่ภาพแพร่เสียงผ่านช่องทางดีทีวี ลงวันที่ 1 มีนาคม 2556 ในวันที่ 1 มีนาคม 2556 นายนรุตม์ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจให้ดำเนินคดีแก่โจทก์และกรรมการบริษัทโจทก์ทุกคนในความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์ ตามหนังสือเรื่องแจ้งให้กรรมการบริษัทโจทก์ทุกคนเพื่อรับทราบข้อหากรณีถูกหาว่ากระทำความผิดอาญา ลงวันที่ 8 มีนาคม 2556 และหมายเรียกผู้ต้องหาบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ยืนยันว่าบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากเจ้าของลิขสิทธิ์ให้เป็นผู้มีสิทธิเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์จำนวน 25 เรื่อง ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว และจำเลยมิได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือมีสิทธิให้ผู้อื่นเผยแพร่ต่อสาธารณชน ต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่ภาพแพร่เสียงรายการโทรทัศน์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต จัดซื้อ และจัดหารายการโทรทัศน์ โจทก์ทำสัญญากับจำเลยด้วยวัตถุประสงค์ที่จะนำรายการโทรทัศน์จากจำเลยมาแพร่เสียงแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมชื่อ “DTV” (ดีทีวี) ของโจทก์ โดยจำเลยรับรองต่อโจทก์ว่าจำเลยเป็นเจ้าของสิทธิในรายการโทรทัศน์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังปรากฏตามข้อ 5.3 ของสัญญาที่ว่า “เอ็มไอซี (จำเลย) ขอรับรองว่าเอ็มไอซี (จำเลย) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเนื้อหา ภาพและเสียงทุกชนิดในรายการโทรทัศน์ตามรายชื่อที่ปรากฏในเอกสารแนบท้ายสัญญา ข. และ/หรือเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในเนื้อหา ภาพและเสียงทุกชนิดในรายการโทรทัศน์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเอ็มไอซี (จำเลย) จะเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์ เทปโทรทัศน์ บทเพลง หรือบทประพันธ์ สิทธินักแสดงและสิ่งอื่น ๆ ที่นำออกแสดงเพื่อออกอากาศในรายการโทรทัศน์ตลอดจนความรับผิดต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกหรือบุคคลใด ๆ เนื่องจากการออกอากาศรายการโทรทัศน์ดังกล่าวของเอ็มไอซี (จำเลย) ในกรณีที่มีการเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์หรือค่าเสียหายใด ๆ เอ็มไอซี (จำเลย) จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้แต่เพียงผู้เดียว และไม่ว่ากรณีใด ๆ หากดีทีวี (โจทก์) ต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายใดๆ เพราะเหตุดังกล่าว เอ็มไอซี (จำเลย) จะต้องชดใช้ให้แก่ดีทีวี (โจทก์) ทั้งสิ้น” ข้อสัญญาดังกล่าวถือเป็นสาระสำคัญ เพราะหากจำเลยไม่ใช่ผู้มีสิทธิในภาพยนตร์ที่อนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิ โจทก์ย่อมไม่ทำสัญญากับจำเลยอย่างแน่แท้ เมื่อบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แจ้งแก่โจทก์ว่าบริษัทพบการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่บริษัทมีสิทธิจัดจำหน่ายและหรือเผยแพร่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม “DTV” ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาต และโจทก์แจ้งแก่จำเลยแล้วแทนที่จำเลยจะยืนยันแก่โจทก์ว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิในภาพยนตร์ตามที่รับรองไว้ในสัญญา จำเลยกลับมีหนังสือแจ้งว่ารายชื่อภาพยนตร์ตามเอกสารแนบท้ายหนังสือมีรายชื่อบางส่วนที่ยังไม่เสร็จกระบวนการซื้อลิขสิทธิ์ ข้อเท็จจริงได้ความจากนายนรุตม์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานสรุปได้ว่า บริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในการเผยแพร่เนื้อหาภาพยนตร์จำนวน 25 เรื่อง โจทก์แพร่ภาพแพร่เสียงภาพยนตร์หลายเรื่องโดยไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต่อมาบริษัทดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าเนื่องจากโจทก์แพร่เสียงแพร่ภาพภาพยนตร์ที่จำเลยจัดหาให้แก่โจทก์ ตามพฤติการณ์แห่งคดีแสดงว่าจำเลยหาได้มีสิทธิในภาพยนตร์ตามที่จำเลยรับรองต่อโจทก์ตามสัญญาไม่ ส่วนที่นายกันต์พจน์ ผู้จัดการบริษัทจำเลยซึ่งมีหน้าที่ในการติดต่อเจรจาทางธุรกิจกับบริษัทคู่ค้าทั้งหมดเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำ ยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานซึ่งสรุปได้ว่า ระหว่างปี 2549 ถึงปี 2554 นายสุวิช ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในภาพยนตร์ของบริษัทมงคลภาพยนตร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันกับบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 4 ครั้ง รวมภาพยนตร์จำนวนกว่า 1,000 เรื่อง สัญญามิได้ห้ามนายสุวิชอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิช่วง นายสุวิช จึงนำสิทธิที่ได้รับตามสัญญาไปอนุญาตให้บริษัทดี.เอ.ไอ ฟิล์ม จำกัด ใช้สิทธิในภาพยนตร์ดังกล่าว ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในภาพยนตร์ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 ต่อมาบริษัทดี.เอ.ไอ ฟิล์ม จำกัด อนุญาตให้จำเลยใช้สิทธิในภาพยนตร์ที่ได้รับมาทั้งหมด นั้น เห็นว่า เมื่อตรวจสอบสำเนาอนุญาตให้ใช้สิทธิในภาพยนตร์ระหว่างบริษัทมงคลภาพยนตร์ จำกัด ผู้อนุญาต กับนายสุวิชผู้รับอนุญาตเอกสารฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ฉบับลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 และฉบับลงวันที่ 16 มกราคม 2552 สัญญาทั้งสามฉบับบริษัทมงคลภาพยนตร์ จำกัด อนุญาตให้นายสุวิชนำภาพยนตร์ไปแพร่เสียงแพร่ภาพในระบบเคเบิลทีวีเท่านั้น ต่อมาหลังจากทำสัญญาสองฉบับแรกลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 และลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 บริษัทมงคลภาพยนตร์ จำกัด อนุญาตให้นายสุวิชแพร่เสียงแพร่ภาพในระบบวีดิทัศน์ตามสั่ง (Video On Demand) ได้ ตามสำเนาบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาให้ใช้สิทธิในภาพยนตร์ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 จำนวน 2 ฉบับ สิทธิของนายสุวิชตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในภาพยนตร์ทั้งสามฉบับจึงไม่รวมถึงสิทธิในการนำภาพยนตร์ไปแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมด้วย แม้บริษัทมงคลภาพยนตร์ จำกัด กับนายสุวิชจะทำสัญญาอีกสองฉบับอนุญาตให้นายสุวิชนำภาพยนตร์ไปแพร่เสียงแพร่ภาพในระบบดาวเทียมได้คือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในภาพยนตร์ ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 และฉบับลงวันที่ 21 ธันวาคม 2554 แต่สัญญาฉบับแรกมีภาพยนตร์จำนวนเพียง 252 เรื่อง และไม่มีภาพยนตร์จำนวน 25 เรื่อง ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ อยู่ในรายชื่อภาพยนตร์ตามเอกสารแนบท้ายสัญญาที่จำเลยอ้างส่ง ส่วนสัญญาฉบับที่สองลงวันที่ 21 ธันวาคม 2554 อนุญาตให้แพร่เสียงแพร่ภาพเฉพาะระบบโทรทัศน์ดาวเทียมช่องดี-เอเชียน (D-Asian), ช่องดี-มูฟวีย์ (D-Movie), ช่องฟิล์มแมกซ์ (Film Max) และ ช่องเวิลด์มูฟวีย์ (World Movie) เท่านั้น ดังนั้น ที่มาแห่งสิทธิในภาพยนตร์ของจำเลยตามคำเบิกความของนายกันต์พจน์พยานจำเลยจึงยังไม่มีเหตุผลพอให้เชื่อว่าจำเลยได้สิทธิที่จะใช้งานภาพยนตร์จำนวน 25 เรื่อง ดังกล่าว ประกอบกับหนังสือเรื่องขอแจ้งรายชื่อภาพยนตร์ที่ไม่ได้รับสิทธิในการแพร่ภาพแพร่เสียงผ่านช่องทางดีทีวี มีภาพยนตร์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจำนวน 16 เรื่อง อยู่ในรายชื่อภาพยนตร์ที่จำเลยแจ้งว่าไม่ได้รับสิทธิในการออกอากาศ ซึ่งเท่ากับเป็นการที่จำเลยยอมรับว่าจำเลยยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในภาพยนตร์จำนวน 16 เรื่อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะอนุญาตให้โจทก์แพร่เสียงแพร่ภาพภาพยนตร์ จำนวน 25 เรื่อง นั้น การกระทำของจำเลยถือเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่ภาพแพร่เสียงรายการโทรทัศน์ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ข้อ 6.1 ในส่วนของเอกสารแนบท้ายสัญญานั้น ข้อสัญญาหลายข้อในสัญญาระบุถึงเอกสารแนบท้าย โดยแบ่งเอกสารแนบท้ายเป็นจำนวน 2 ชุด คือ เอกสารแนบท้ายสัญญา ก. ซึ่งเกี่ยวกับรายละเอียดการคิดค่าตอบแทนการอนุญาตให้ใช้สิทธิ และเอกสารแนบท้ายสัญญา ข. ซึ่งเป็นรายชื่อรายการโทรทัศน์ที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิ เอกสารแนบท้ายทั้ง 2 ชุด มีความสำคัญต่อการปฏิบัติตามสัญญา เพราะเกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยและรายชื่อภาพยนตร์ที่โจทก์ได้รับสิทธิจากจำเลยให้นำไปแพร่เสียงแพร่ภาพได้ จากความสำคัญดังกล่าวย่อมมีเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์และจำเลยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้พิจารณาเอกสารแนบท้ายสัญญา ในขณะทำสัญญาแล้ว เอกสารแนบท้ายสัญญาจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย ซึ่งกรณีของเอกสารแนบท้ายสัญญา ข. ได้แก่ เอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 4 ถึงแผ่นที่ 14 ที่นายกันต์พจน์พยานจำเลยเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า รายชื่อภาพยนตร์ในเอกสารแนบท้ายสัญญา ข. ไม่ใช่รายชื่อภาพยนตร์ที่จำเลยเป็นผู้จัดทำและจำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดส่งให้แก่โจทก์ รายชื่อภาพยนตร์ทั้งหมดเป็นรายชื่อภาพยนตร์ที่โจทก์เป็นผู้จัดหาและจัดทำขึ้นเองทั้งสิ้น เห็นว่า เอกสารแนบท้ายสัญญา ข. ตามเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 4 ถึงแผ่นที่ 14 แม้โจทก์เป็นผู้จัดทำโดยปรากฏที่หัวกระดาษมีชื่อและที่อยู่ของบริษัทโจทก์ก็มิใช่ข้อที่ทำให้สงสัยว่าเป็นรายชื่อภาพยนตร์ที่โจทก์เป็นผู้จัดหาและจัดทำขึ้นเองโดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นเพราะสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่ภาพแพร่เสียงรายการโทรทัศน์เอกสารหมาย จ.4 และบันทึกความร่วมมือการหาผลประโยชน์จากสื่อของดีทีวี (DTV) เอกสารหมาย จ.5 ล้วนแต่มีหัวกระดาษที่มีชื่อและที่อยู่ของบริษัทโจทก์แบบเดียวกัน และจำเลยมิได้โต้แย้งความถูกต้องของเนื้อความในเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 4 ถึงแผ่นที่ 14 แต่อย่างใด ส่วนรายชื่อภาพยนตร์ที่ปรากฏในเอกสารแนบท้ายสัญญา ข. มีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้แจ้งให้โจทก์ทราบเนื่องจากโจทก์ไม่สามารถรู้ได้เองว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิในภาพยนตร์เรื่องใดบ้างเพราะข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยซึ่งประกอบธุรกิจซื้อและจำหน่ายซึ่งลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้เอกสารยังระบุเรื่องวันเข้าฉาย ชื่อภาพยนตร์ภาษาอังกฤษ ชื่อภาพยนตร์ภาษาไทย หรือประเภทของภาพยนตร์ซึ่งเป็นรายละเอียดที่โจทก์ไม่อาจล่วงรู้ได้ ประกอบกับก่อนที่โจทก์จะแพร่เสียงแพร่ภาพซึ่งภาพยนตร์เรื่องใด โจทก์ต้องมั่นใจว่าจำเลยในฐานะผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิในภาพยนตร์แก่โจทก์ได้ตรวจสอบรายชื่อภาพยนตร์แล้ว มิฉะนั้นโจทก์ต้องเสี่ยงต่อการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์นั้นและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้ ทั้งปรากฏว่าช่วงระยะเวลาหลังจากการทำสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 จนถึงวันที่จำเลยมีหนังสือขอแจ้งรายชื่อภาพยนตร์ที่ไม่ได้รับสิทธิในการแพร่ภาพแพร่เสียงผ่านช่องทางดีทีวี ลงวันที่ 1 มีนาคม 2556 เอกสารหมาย จ.9 จำเลยไม่เคยโต้แย้งหรือทักท้วงว่าเอกสารแนบท้ายสัญญา ข. เอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 4 ถึงแผ่นที่ 14 ไม่ถูกต้อง จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าเอกสารแนบท้ายสัญญา ข. ดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยถูกต้องและมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย ที่นายกันต์พจน์พยานจำเลยเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า ภาพยนตร์ที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์นำออกเผยแพร่ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่ภาพแพร่เสียงรายการโทรทัศน์เอกสารหมาย จ.4 เป็นภาพยนตร์ที่จำเลยมีสิทธินำออกเผยแพร่ทั้งสิ้น ในทางปฏิบัติโจทก์จะต้องส่งภาพยนตร์ที่โจทก์คัดเลือกให้จำเลยทราบก่อนออกอากาศไม่น้อยกว่า 30 วัน การที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นเพราะโจทก์ไม่ได้ส่งรายชื่อภาพยนตร์ที่โจทก์คัดเลือกให้จำเลยทราบก่อนออกอากาศ นั้น เห็นว่า กรณีที่โจทก์ต้องคัดเลือกรายการโทรทัศน์และแจ้งให้จำเลยทราบไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันออกอากาศเป็นกรณีที่จำเลยจัดส่งรายชื่อรายการโทรทัศน์ใหม่ให้แก่โจทก์ทุกๆ 6 เดือน หรือเมื่อจำเลยมีรายชื่อรายการใหม่เพื่อให้โจทก์พิจารณาคัดเลือกนำมาออกอากาศเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ระบุในเอกสารแนบท้ายสัญญา ก. ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 5.2 แต่กรณีของภาพยนตร์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเอกสารหมาย จ.25 ถึง จ.48 จำนวน 25 เรื่อง เป็นภาพยนตร์ที่อยู่ในเอกสารแนบท้ายสัญญา ข. ถึงจำนวน 24 เรื่อง (ยกเว้นภาพยนตร์เรื่อง “The Twilight Saga: Breaking Dawn Part II” ไม่ใช่กรณีตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 5.2) จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องส่งรายชื่อภาพยนตร์ให้แก่จำเลย และจำเลยทราบชื่อภาพยนตร์จากเอกสารแนบท้ายสัญญา ข. อยู่แล้ว คำเบิกความของนายกันต์พจน์พยานจำเลยจึงขัดแย้งกับข้อสัญญาในข้อ 5.2 ของสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ดังที่นายกันต์พจน์เบิกความ ส่วนที่นายสุวิช กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทจำเลยเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า นายสุวิชและนางสาวเสาวณีย์ ลงนามไปเฉพาะสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเอกสารหมาย จ.4 ยังไม่ได้ลงนามในเอกสารแนบท้ายสัญญา ก. และ ข. เพราะนายกันต์พจน์ตรวจพบและทักท้วงว่ามีรายชื่อภาพยนตร์ที่ไม่ถูกต้องตรงตามสิทธิที่จำเลยได้รับ และแจ้งให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขตารางในเอกสารแนบท้ายสัญญาให้ถูกต้องเพื่อลงนามต่อไป แต่โจทก์ไม่ได้ส่งตารางรายชื่อภาพยนตร์ใด ๆ มาให้นายสุวิชลงนาม และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่า เป็นข้อพิรุธเกี่ยวกับรายชื่อภาพยนตร์แนบท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ที่รับฟังไม่ได้ว่าเป็นลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทจำเลยให้การรับรองนั้น เห็นว่า จำเลยให้การแต่เพียงว่ารายชื่อภาพยนตร์ในเอกสารแนบท้ายสัญญา ข. ไม่ใช่รายชื่อภาพยนตร์ที่จำเลยเป็นผู้จัดทำและจำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดส่งให้แก่โจทก์ รายชื่อภาพยนตร์ดังกล่าวทั้งหมดเป็นรายชื่อภาพยนตร์ที่โจทก์เป็นผู้จัดหาและจัดทำขึ้นทั้งสิ้น การที่โจทก์นำภาพยนตร์บางส่วนออกเผยแพร่และเกิดเหตุละเมิดสิทธิของบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น เท่ากับว่าจำเลยไม่ได้ให้การในเรื่องการลงลายมือชื่อในเอกสารแนบท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ในข้อสาระสำคัญที่โจทก์จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้นั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่า จำเลยไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะอนุญาตให้โจทก์แพร่เสียงแพร่ภาพภาพยนตร์จำนวน 25 เรื่อง ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเอกสารหมาย จ.25 ถึง จ.48 อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่ภาพแพร่เสียงรายการโทรทัศน์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญตามสัญญาข้อ 6.1 เอกสารหมาย จ.4 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่ภาพแพร่เสียงรายการโทรทัศน์เอกสารหมาย จ.4 แก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า โจทก์และจำเลยได้นำสืบข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยปัญหานี้แล้ว จึงเห็นสมควรไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยก่อน ในปัญหานี้โจทก์มีนายปราโมทย์ กรรมการบริษัทโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำ ยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานสรุปได้ว่า การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายดังนี้ (1) ค่าเสียหายจากความเสื่อมเสียชื่อเสียง และเกียรติคุณเนื่องจากการถูกบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ดำเนินคดีอาญาจำนวน 10,000,000 บาท (2) ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ทางการค้าจากรายได้ที่โจทก์ควรได้รับแต่ต้องสูญเสียไปจากการเปลี่ยนแปลงเนื้อหารายการออกอากาศ โดยแบ่งเป็น (2.1) ลูกค้าขอลดค่าบริการในการเข้าใช้เครือข่ายของโจทก์ (DTV Platform Access) ลงร้อยละ 50 จากอัตราค่าบริการปกติและบางส่วนยกเลิกข้อตกลงในภายหลังรวมจำนวน 6 ราย คิดเป็นเงินจำนวน 284,750 บาท (2.2) ลูกค้าขอระงับบริการในการเข้าใช้เครือข่ายของโจทก์ชั่วคราวตามข้อตกลงรายปีจำนวน 1 ราย คิดเป็นรายได้ที่ขาดไปจำนวน 9 เดือน จำนวนเดือนละ 200,000 บาท รวมจำนวน 1,800,000 บาท (2.3) ลูกค้าขอยกเลิกบริการในการใช้โครงข่ายของโจทก์ รวมจำนวน 5 ราย คิดเป็นเงินจำนวน 492,000 บาท (2.4) ตัวแทนจำหน่ายกล่องรับสัญญาณและจานดาวเทียม ขอคืนสินค้าและระงับการซื้อสินค้า ทำให้โจทก์สูญเสียรายได้และโอกาสทางธุรกิจในการจำหน่ายกล่องและอุปกรณ์รับสัญญาณและจานดาวเทียมประเภทความคมชัดสูง (หรือกล่อง “DTV-HD 1”) ซึ่งใช้กับช่องรายการ “HDTV 2” หรือช่องรายการ “D-Movie HD” โดยเฉพาะ คิดคำนวณเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันคือ ช่วงก่อนและหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหารายการ คิดเป็นรายได้ที่ลดลงซึ่งโจทก์ขอคิดจำนวนเพียง 2 ไตรมาส เป็นเงินจำนวน 14,202,541.22 บาท (2.5) ค่าเสียหายจากการผลิตสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ทำขึ้นแล้วแต่ไม่ได้ใช้เพราะข้อมูลรายการมีการเปลี่ยนแปลงจากกรณีที่ต้องยุติการออกอากาศรายการภาพยนตร์จำนวน 25 เรื่อง ทางช่อง “HDTV 2” หรือช่อง “D-Movie HD” คิดเป็นเงินจำนวน 51,250 บาท (3) เงินค่าสิทธิและค่าใช้จ่ายที่โจทก์ชำระแก่เจ้าของสิทธิรายใหม่รวมจำนวน 2 ราย ดังนี้ (3.1) ค่าลิขสิทธิ์ที่โจทก์ชำระให้แก่บริษัทเอส.ที.จี. มัลติมีเดีย จำกัด จำนวน 1,000,000 บาท (3.2) ค่าลิขสิทธิ์ที่โจทก์ต้องชำระให้แก่บริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวนปีละ 5,000,000 บาท โจทก์คำนวณค่าสิทธิในส่วนนี้ตามสัดส่วนเท่ากับระยะเวลาที่เหลือของสัญญาเดิมที่เคยทำไว้กับจำเลย เป็นระยะเวลา 2 ปี 1 เดือน 14 วัน คิดเป็นเงินจำนวน 10,602,739.73 บาท (3.3) ค่าเวลาออกอากาศ (Barter Air Time) หรือนาทีสำหรับโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Advertising Minute) ตลอดอายุสัญญาที่โจทก์ต้องชำระให้บริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แทนตัวเงินจำนวน 10,000,000 บาท โจทก์ขอนำมาคิดเป็นฐานในการเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จำนวนเพียง 5,000,000 บาท โจทก์คำนวณค่าสิทธิในส่วนนี้ตามสัดส่วนเท่ากับระยะเวลาที่เหลือของสัญญาเดิมที่เคยทำไว้กับจำเลยเป็นระยะเวลา 2 ปี 1 เดือน 14 วัน คิดเป็นเงินจำนวน 10,602,739.73 บาท (4) ค่าทนายความและที่ปรึกษาและค่าใช้จ่ายทางกฎหมายที่โจทก์ชำระให้แก่บริษัทสำนักงานกฎหมายดำเนิน สมเกียรติและบุญมา จำกัด จากกรณีที่โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาและการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจำนวน 233,325.81 บาท รวมค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ตามข้อ (1) ถึง (5) จำนวนทั้งสิ้น 49,269,346.49 บาท เห็นว่า เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.4 แล้ว โจทก์และจำเลยจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ไม่ สำหรับค่าเสียหายจากความเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณเนื่องจากการถูกบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ดำเนินคดีอาญา และค่าเสียหายที่เป็นค่าทนายความและค่าใช้จ่ายทางกฎหมายที่ชำระให้แก่บริษัทดำเนิน สมเกียรติและบุญมา จำกัด นั้น เห็นว่า โจทก์ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมชื่อ ดีทีวี (DTV) โดยมีช่องรายการ “HDTV-2” หรือ “D-Movie HD” เป็นช่องรายการหลัก ซึ่งช่องรายการดังกล่าวทำการแพร่เสียงแพร่ภาพภาพยนตร์ต่อสาธารณชน กลุ่มลูกค้าของโจทก์ได้แก่ โครงการหรือองค์กรที่เชื่อมหรือเช่าใช้โครงข่าย (DTV Platform Access) ของโจทก์ และตัวแทนจำหน่ายสินค้าซึ่งเป็นผู้จำหน่ายและให้บริการติดตั้งกล่องรับสัญญาณ อุปกรณ์รับสัญญาณ และจานดาวเทียมแก่ผู้พักอาศัยตามบ้านเรือน ส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการซื้อและจัดจำหน่ายซึ่งลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้นายสุวิช กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทจำเลยมาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า พยานเคยขออนุญาตใช้สิทธิในงานภาพยนตร์ของบริษัทมงคลภาพยนตร์ จำกัด แล้วพยานอนุญาตให้บริษัทดี.เอ.ไอ. ฟิล์ม จำกัด ซึ่งพยานร่วมบริหารอยู่ด้วยและเป็นบริษัทในเครือเดียวกับบริษัทจำเลยใช้สิทธิช่วง จากนั้นบริษัทดี.เอ.ไอ. ฟิล์ม จำกัด ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยใช้สิทธิในภาพยนตร์ที่ได้รับมาทั้งหมด ดังนั้นการประกอบธุรกิจของจำเลยตลอดจนกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทจำเลยล้วนเกี่ยวข้องกับการขออนุญาตใช้สิทธิในงานภาพยนตร์ทั้งสิ้น อีกทั้งในการทำสัญญากับโจทก์ จำเลยยังให้คำรับรองว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในเนื้อหา ภาพ และเสียงทุกชนิดในรายการโทรทัศน์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจะรับผิดชอบเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ เทปโทรทัศน์ บทเพลงหรือบทประพันธ์ สิทธิของนักแสดง และสิ่งอื่นๆ ที่นำออกอากาศในรายการโทรทัศน์ตลอดจนความรับผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกหรือบุคคลใดๆ เนื่องจากการออกอากาศรายการโทรทัศน์ของจำเลย จากการที่จำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจซื้อและจัดจำหน่ายซึ่งลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศและได้ให้คำรับรองต่อโจทก์ จึงมีเหตุผลให้โจทก์เชื่อว่าโจทก์มีสิทธิแพร่เสียงแพร่ภาพภาพยนตร์โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์โดยชอบแล้ว เมื่อโจทก์ถูกบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ดำเนินคดีอาญาในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์จากการแพร่เสียแพร่ภาพภาพยนตร์จำนวน 25 เรื่อง ที่จำเลยยืนยันว่ามีสิทธิในภาพยนตร์นั้นแล้วอนุญาตให้โจทก์แพร่เสียงแพร่ภาพ ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่ภาพแพร่เสียงรายการโทรทัศน์เอกสารหมาย จ.4 ทั้งๆ ที่จำเลยไม่มีสิทธิใดๆ ในภาพยนตร์จำนวน 25 เรื่อง ดังกล่าวนั้น ทำให้โจทก์ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจแพร่เสียงแพร่ภาพได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณ เพราะบุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และละเมิดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ความน่าเชื่อถือในวงการธุรกิจโทรคมนาคม และความเชื่อมั่นในกลุ่มลูกค้าของโจทก์ นอกจากนี้การที่โจทก์ต้องชำระค่าทนายความและค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทสำนักงานกฎหมายดำเนิน สมเกียรติและบุญมา จำกัด ก็เป็นผลโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยจนทำให้โจทก์ถูกบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ดำเนินคดีอาญา จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณและค่าเสียหายที่เป็นค่าทนายความและค่าใช้จ่ายทางกฎหมายรวมกันเป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท ค่าเสียหายประการต่อมาเป็นค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ทางการค้าจากรายได้ที่โจทก์อ้างว่าควรได้รับ แต่ต้องสูญเสียไปจากการเปลี่ยนแปลงเนื้อหารายการออกอากาศ ค่าเสียหายส่วนนี้ปรากฏจากคำเบิกความของนายปราโมทย์ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานและสรุปรายการค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจากกรณีจำเลยทำผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเอกสารหมาย จ.14 ว่า ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์จากรายได้ที่โจทก์ควรจะได้รับแต่ต้องสูญเสียไปจากการต้องยุติการออกอากาศภาพยนตร์ทางช่อง “HDTV 2” หรือ “D-Movie HD” ได้แก่ (1) ค่าขาดประโยชน์รายได้ที่โจทก์ควรจะได้รับจากลูกค้าในกลุ่มบริการเข้าใช้โครงข่ายของโจทก์ (DTV Platform Access) ต่อปี โดยมีลูกค้าที่ขอลดค่าบริการร้อยละ 50 และบางส่วนยกเลิกข้อตกลงในภายหลังจำนวน 6 ราย ได้แก่บริษัทเปียร์นนท์ เคเบิลเนต จำกัด จำนวน 30,000 บาท นครเคเบิ้ลจำนวน 48,000 บาท บริษัทเคพีทีดิจิตอลเทเลวิชันเคเบิลทีวี จำกัด จำนวน 144,000 บาท บริษัทเคเบิ้ลพีพีเน็ทเวิร์ค จำกัด จำนวน 12,000 บาท ชุมพรวิชั่นจำนวน 2,750 บาท และบริษัทหาดใหญ่เคเบิลจำนวน 48,000 บาท รวมจำนวน 284,750 บาท ลูกค้าที่ระงับบริการชั่วคราว 1 ราย คือ เอ็นเวสจำนวน 1,800,000 บาท ลูกค้าที่ยกเลิกบริการจำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัทเอ็มเอสเอสเคเบิลเน็ตเวิร์ค ปทุมธานี จำกัด จำนวน 120,000 บาท บริษัทเอ็มเอสเอสพิษณุโลกเคเบิลทีวี จำกัด จำนวน 120,000 บาท บริษัทเอ็มเอสเอส ฉะเชิงเทรา จำกัด จำนวน 72,000 บาท บริษัทเวิร์ลเน็ตเวิร์ค จำกัด จำนวน 60,000 บาท และบริษัทปราการเคเบิ้ลทีวี จำกัด จำนวน 120,000 บาท รวมจำนวน 492,000 บาท (2) ค่าเสียหายจากตัวแทนจำหน่ายบางส่วนขอคืนสินค้าและระงับการซื้อสินค้ากล่อง “DTV-HD 1” ทำให้โจทก์สูญเสียรายได้และโอกาสทางธุรกิจโดยเป็นความเสียหายในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 หลังปรับผังรายการจำนวน 6,986,252.58 บาท และในไตรมาส์ที่ 3 ปี 2556 หลังปรับผังรายการจำนวน 7,216,288.64 บาท รวมเป็นค่าเสียหายจำนวนทั้งสิ้น 14,202,541.22 บาท (3) ค่าเสียหายจากการผลิตสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์แต่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้เพราะข้อมูลรายการมีการเปลี่ยนแปลงจากกรณีที่ต้องยุติออกอากาศรายการภาพยนตร์จำนวน 25 เรื่อง ทางช่อง “HDTV 2” หรือช่อง “D-Movie HD” รวมเป็นค่าเสียหายจากการผลิตสื่อโฆษณาจำนวนทั้งสิ้น 51,250 บาท จากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่าโจทก์ยุติการออกอากาศรายการภาพยนตร์ทางช่อง “D Movie HD” หรือช่อง “HDTV 2” ในวันที่ 30 มีนาคม 2556 มีภาพยนตร์ตามตารางที่ 1 รายชื่อภาพยนตร์ท้ายสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่ภาพแพร่เสียงรายการโทรทัศน์ที่บริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อ้างว่าโจทก์ละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์จำนวน 24 เรื่อง ในจำนวน 25 เรื่อง ที่บริษัทดังกล่าวแจ้งต่อโจทก์ (ยกเว้นภาพยนตร์เรื่อง “The Twilight Saga: Breaking Dawn Part II) ซึ่งโจทก์ก็ควรยุติออกอากาศรายการภาพยนตร์ทางช่อง “D Movie HD” หรือช่อง “HDTV 2” จำนวนเพียง 24 เรื่อง จากรายการภาพยนตร์ทั้งหมดตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่ภาพแพร่เสียงรายการโทรทัศน์จำนวน 582 เรื่อง แต่โจทก์กลับยุติการออกอากาศรายการภาพยนตร์ทั้ง 582 เรื่อง แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์อ้างลอยๆ ว่ามีลูกค้าขอลดค่าบริการร้อยละ 50 และบางส่วนยกเลิกข้อตกลงในภายหลังจำนวน 6 ราย มีลูกค้าที่ระงับการบริการชั่วคราว 1 ราย และลูกค้าที่ยกเลิกบริการจำนวน 5 ราย มีตัวแทนจำหน่ายบางส่วนขอคืนสินค้าและระงับการซื้อสินค้ากล่อง “DTV-HD 1” และมีการผลิตสื่อโฆษณาที่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ก็ตาม ก็ยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอให้รับฟังได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่โจทก์หยุดออกอากาศรายการภาพยนตร์ที่มีปัญหาไม่เป็นไปตามที่จำเลยให้การรับรองต่อโจทก์ว่าโจทก์สามารถนำไปออกอากาศได้โดยชอบจำนวน 24 เรื่อง ดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจเรียกเอาค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ทางการค้าจากจำเลยได้ สำหรับค่าเสียหายประการสุดท้ายได้แก่ ค่าสิทธิและประโยชน์ตอบแทนที่โจทก์อ้างว่าต้องชำระไปเพื่อจัดหารายการภาพยนตร์มาทดแทนรายการภาพยนตร์ของจำเลยปรากฏตามคำเบิกความของนายปราโมทย์ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ประกอบสรุปรายการค่าเสียหายว่า ค่าสิทธิและค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องชำระให้แก่บุคคลภายนอกในการจัดหารายการภาพยนตร์มาทดแทนจากการที่จำเลยผิดสัญญา คำนวณตามสัดส่วนเท่ากับระยะเวลาที่เหลือของสัญญาเดิมที่ทำไว้กับจำเลยรวมเป็นระยะเวลา 2 ปี 1 เดือน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ประกอบด้วยค่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่ซื้อจากบริษัทเอสทีจี จำกัด จำนวน 10 เรื่อง เรื่องละ 100,000 บาท รวมจำนวน 1,000,000 บาท ค่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์จากบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ปีละ 5,000,000 บาท รวม 2 ปี 1 เดือน 14 วัน เป็นเงินจำนวน 10,602,739.73 บาท และค่าเวลาออกอากาศที่มอบให้แก่บริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ปีละ 5,000,000 บาท รวม 2 ปี 1 เดือน 14 วัน รวมเป็นเงินจำนวน 10,602,739.73 บาท เห็นว่า ภาพยนตร์ที่จำเลยไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะให้โจทก์นำไปออกอากาศทางช่อง “D Movie HD” หรือช่อง “HDTV 2” ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแพร่ภาพแพร่เสียงรายการโทรทัศน์เอกสารหมาย จ.4 มีจำนวนเพียง 24 เรื่อง จากภาพยนตร์ทั้งหมดจำนวน 582 เรื่อง โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเหตุใดโจทก์ไม่นำภาพยนตร์อีกจำนวน 558 เรื่อง ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์มาออกอากาศแทน ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า เหตุใดโจทก์จำเป็นต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์แก่บริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์จากบริษัทเอสทีจี จำกัด รวมเป็นเงินจำนวนถึง 22,205,479.46 บาท ตามสรุปรายการค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.14 และภาพยนตร์ที่โจทก์ซื้อลิขสิทธิ์และจ่ายค่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวเป็นภาพยนตร์จำนวน 24 เรื่อง ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ที่จำเลยไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะให้โจทก์นำไปออกอากาศทางช่อง “D Movie HD” หรือช่อง “HDTV 2” หรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่า ค่าสิทธิและประโยชน์ตอบแทนจำนวน 22,205,479.46 บาท ดังกล่าวเป็นความเสียหายที่โจทก์ได้รับอันเป็นผลมาจากการที่จำเลยไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะให้โจทก์นำภาพยนตร์จำนวน 24 เรื่อง ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ไปออกอากาศทางช่อง “D Movie HD” หรือช่อง “HDTV 2” โจทก์จึงไม่อาจเรียกเอาค่าเสียหายจำนวน 22,205,479.46 บาท ดังกล่าวจากจำเลยได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2556 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ