คำวินิจฉัยที่ 106/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยกล่าวอ้างว่าการออก น.ส.ล. เลขที่ บร ๔๗๐๓ ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ผู้ฟ้องคดีก็อ้างเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายประการสำคัญว่าเป็นการออก น.ส.ล. ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่เป็นที่ดินตาม ส.ค. ๑ ที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครอง การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออก น.ส.ล. เลขที่ บร ๔๗๐๓ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีและกรมที่ดินผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๖/๒๕๕๙

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดรัตนบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๕ นายมี คำน้อย ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องนายอำเภอรัตนบุรี ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ สาขารัตนบุรี ที่ ๒ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเบิด ที่ ๓ กำนันตำบลเบิด ที่ ๔ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ที่ ๕ กรมการปกครองที่ ๖ และกรมที่ดิน ที่ ๗ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗/๒๕๕๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองในที่ดิน ตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๑๐๕ หมู่ที่ ๒ ตำบลเบิด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๒ งาน ๗๒ ตารางวา แต่เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ลุ่ม นายอ้วน พุดจีบ อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๗ ต้องการจะกันที่ดินแปลงดังกล่าวบางส่วน เนื้อที่ ๒ ไร่ ๓๕ ตารางวา ไว้เป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ยอมยกให้ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๗ ตำบลเบิด จึงแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กันที่แปลงดังกล่าวไว้แล้วรายงานต่อกระทรวงมหาดไทยและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อให้ขับไล่ผู้ฟ้องคดีและกันเอาไว้เป็นที่หลวง โดยที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก) และออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๓๗๐๓ แต่มีเนื้อที่เหลือเพียง ๑๓ ไร่ ๒ งาน ๒๗ ตารางวา เมื่อทางราชการสั่งให้มีการตรวจสอบ ปรากฏว่าที่ดินหนองหอยสาธารณประโยชน์ เลขทะเบียน ๓๐๐ อยู่ในระวางที่ ๕๗๓๙ I แผ่นที่ ๑๖๖ แต่แปลงของผู้ฟ้องคดีอยู่ในแผ่นที่ ๑๐ ระบุชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดิน ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้พนักงานปักหลักและป้ายหนองหอยสาธารณประโยชน์บนที่ดินที่ขาดหายไป เมื่อผู้ฟ้องคดีไปขอตรวจสอบเอกสารที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ สาขารัตนบุรี และที่องค์การบริหารส่วนตำบลเบิด จึงทราบว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือที่ สร ๐๖๑๗/๑๘๗๙ ลงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ จำนวนสองฉบับ อ้างคำสั่งอำเภอรัตนบุรีที่ ๕๔/๒๕๕๓ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีขอให้ตรวจสอบที่สาธารณประโยชน์ “หนองหอย” แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ พิจารณาดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าว และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้มีหนังสือที่ สร ๘๑๓๐๑/๔๙๘ ลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากที่ดินแปลงพิพาทภายใน ๓๐ วัน ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือยื่นอุทธรณ์ ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ สร ๐๔๘๔๘ แปลงที่สาธารณประโยชน์ทับที่ดิน เนื้อที่ ๒ ไร่ ๓๕ ตารางวา ของผู้ฟ้องคดี การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ด เป็นการละเมิดสิทธิและรบกวนการครอบครองที่ดินโดยปกติสุขของผู้ฟ้องคดี และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอำเภอรัตนบุรีที่ ๕๔/๒๕๕๓ ให้นำที่ดินพิพาท เนื้อที่ ๒ ไร่ ๓๕ ตารางวา รวมเป็นที่ดินในโฉนดของผู้ฟ้องคดีให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนหลักเขต เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ สร ๐๔๘๔๘ ซึ่งทับที่ดินผู้ฟ้องคดีและห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีและบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวและให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจากค่าขาดประโยชน์มิได้ทำนาเป็นเงินปีละ ๑,๕๐๐ บาท คิดค่าเสียหาย ๕ ปีเป็นเงินจำนวน ๗,๕๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ ที่ ๖ และที่ ๗ ให้การในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินดังกล่าวเป็น “ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน” การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๕ และที่ ๗ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ สร ๐๔๘๔๘ แปลงที่สาธารณประโยชน์ “หนองหอยสาธารณประโยชน์” โดยมิชอบด้วยกฎหมายทับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองนั้นเป็น การจัดให้มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเมื่อผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องเพิ่มเติมขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนที่ดินสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าวและให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าขาดประโยชน์มิได้ทำนา คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้ศาลปกครองจะวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า ที่ดินบริเวณพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองแต่ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลปกครองจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นประเด็นที่ศาลปกครองมีอำนาจวินิจฉัยได้ และมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินใดๆ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นการยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สิน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดรัตนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่ถูกผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ขับไล่ออกจากที่ดินพิพาทเนื่องจากที่ดินดังกล่าวได้กันไว้เพื่อเป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์และได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก ) และออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๓๗๐๓ ทำให้เนื้อที่เหลือเพียง ๑๓ ไร่ ๒ งาน ๒๗ ตารางวา และห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท รวมถึงมีหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีออกจากที่ดินพิพาทภายใน ๓๐ วัน ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้นจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นสิทธิครอบครองของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐความว่า ผู้ฟ้องคดีครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๒ งาน ๗๒ ตารางวา ต่อมา มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก ) และออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๓๗๐๓ แต่มีเนื้อที่เหลือเพียง ๑๓ ไร่ ๒ งาน ๒๗ ตารางวา เนื้อที่ขาดไป ๒ ไร่ ๓๕ ตารางวา ซึ่งเนื้อที่ที่ขาดไปนั้น อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๗ ต้องการกันไว้เป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์ จึงแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ให้รายงานต่อกระทรวงมหาดไทยกับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้พนักงานไปปักหลักเขตป้ายบนที่พิพาทว่าเป็น หนองหอยสาธารณประโยชน์ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ สร ๐๔๘๔๘ แปลงที่สาธารณประโยชน์โดยมิชอบทับที่ดินพิพาทและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีหนังสือห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีเข้าทำประโยชน์ รวมถึงมีหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีออกจากที่ดินพิพาทภายใน ๓๐ วัน ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเพิกถอนคำสั่งอำเภอรัตนบุรีที่ ๕๔/๒๕๕๓ ให้นำที่ดินพิพาท เนื้อที่ ๒ ไร่ ๓๕ ตารางวา รวมเป็นที่ดินในโฉนดของผู้ฟ้องคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนหลักเขต เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ สร ๐๔๘๔๘ ซึ่งทับที่ดินผู้ฟ้องคดี ห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีและบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวและให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจากค่าขาดประโยชน์มิได้ทำนาเป็นเงินปีละ ๑,๕๐๐ บาท คิดค่าเสียหาย ๕ ปีเป็นเงินจำนวน ๗,๕๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ ที่ ๖ และที่ ๗ ให้การในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นการฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายมี คำน้อย ผู้ฟ้องคดี นายอำเภอรัตนบุรี ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ สาขารัตนบุรี ที่ ๒ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเบิด ที่ ๓ กำนันตำบลเบิด ที่ ๔ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ที่ ๕ กรมการปกครองที่ ๖ กรมที่ดิน ที่ ๗ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share