คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6170/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจัดเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยเป็นการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตเพิ่มเติมจากผู้มีหน้าที่เสียภาษี ตาม พ.ร.บ.จัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 4 การจัดเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยจึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 เมื่อมาตรา 3 แห่ง พระราชกฤษฎีกาเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตเพื่อนำไปจัดสรรให้แก่กรุงเทพมหานครและราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2527 บัญญัติให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตเสียภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าหรือบริการตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละสิบของภาษี และมาตรา 139 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 บัญญัติให้เบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้ถือเป็นเงินภาษี การคำนวณภาษีเพื่อมหาดไทยในกรณีนี้จึงต้องคำนวณในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตรวมกับเงินเพิ่มภาษีสรรพสามิตที่ต้องชำระ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 8,478,938.07 บาทแก่โจทก์ทั้งสาม และชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้าที่ค้างชำระจำนวน 1,521,692 บาท นับแต่ถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 8,284,088.07 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม และเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของต้นเงินอากรขาเข้าที่ค้างชำระจำนวน 505,701 บาท ตามแบบแจ้งการประเมินเลขที่ กค 0521 (6)/3 – 3 – 01893 จำนวน 505,701 บาท ตามแบบแจ้งการประเมินเลขที่ กค 0521 (6)/3 – 3 – 01894 และจำนวน 510,290 บาท ตามแบบแจ้งการประเมินเลขที่ กค 0521 (6)/ 3 – 3 – 01895 นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงการคลัง โจทก์ทั้งสามมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามกฎหมาย โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนโจทก์ที่ 2 และมีหน้าที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทยแทนโจทก์ที่ 3 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดถูกขีดชื่อออก จากทะเบียนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 ตามสำเนาหนังสือรับรอง และเอกสารท้ายคำแถลงนำหมาย ในวันที่ 31 สิงหาคม 2547 และวันที่ 7 กันยายน 2547 จำเลยนำเข้ารถยนต์นั่งที่ผลิตในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร และยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษี มูลค่าเพิ่มรวม 3 ฉบับ เพื่อผ่านพิธีการทางศุลกากร เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจพิจารณาราคาสินค้าตามที่จำเลยสำแดง หลงเชื่อว่าเป็นราคาสินค้าที่แท้จริง จึงให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรตามที่สำแดงและตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไป ตามใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม และสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2548 เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1ได้เข้าตรวจค้นสำนักงานของจำเลยพบเอกสารการชำระค่าสินค้าที่นำเข้าเชื่อได้ว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าที่นำเข้าต่ำกว่าราคาที่แท้จริง ตามบันทึกการตรวจค้น – จับกุม บันทึกการตรวจและรับรองหรือยึดหรืออายัดเอกสาร เป็นเหตุให้จำเลยชำระภาษีอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามใบขนสินค้าขาเข้าฯ ทั้ง 3 ฉบับ ขาดไป เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งการประเมินเรียกเก็บค่าภาษีอากรที่ขาดพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามใบขนสินค้าขาเข้าฯ ทั้ง 3 ฉบับ คำนวณเป็นค่าอากรขาเข้า เงินเพิ่มอากรขาเข้าคำนวณถึงวันฟ้องภาษีสรรพสามิต เงินเพิ่มภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย เงินเพิ่มภาษีเพื่อมหาดไทย ภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,478,938.07 บาท โดยในส่วนการประเมินภาษีสรรพสามิต และภาษีเพื่อมหาดไทยสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฯ เลขที่ 0581 – 00248 – 01598 ประเมินภาษีสรรพสามิต 647,544 บาท เงินเพิ่มภาษีสรรพสามิต 647,544 บาท ภาษีเพื่อมหาดไทย 64,754 บาท และเงินเพิ่มภาษีเพื่อมหาดไทย 64,754 บาท สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฯ เลขที่ 0581 – 00248 – 01599 ประเมินภาษีสรรพสามิต 647,544 บาท เงินเพิ่มภาษีสรรพสามิต 647,544 บาท ภาษีเพื่อมหาดไทย 64,754 บาท และเงินเพิ่มภาษีเพื่อมหาดไทย 64,754 บาท และสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฯ เลขที่ 0109 – 00348 – 60626 ประเมินภาษีสรรพสามิต 653,420 บาท เงินเพิ่มภาษีสรรพสามิต 653,420 บาท ภาษีเพื่อมหาดไทย 65,342 บาท และเงินเพิ่มภาษีเพื่อมหาดไทย 65,342 บาท ตามแบบแจ้งการประเมินฯ จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวทางไปรษณีย์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2556 จำเลยไม่ได้อุทธรณ์การประเมินตามบันทึกข้อความและใบตอบรับทางไปรษณีย์
กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามเพียงประการเดียวว่าจำเลยต้องชำระภาษีเพื่อมหาดไทยเพียงใด โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่า การคำนวณภาษีเพื่อมหาดไทยในกรณีนี้ต้องคำนวณในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตรวมกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภาษีสรรพสามิต เมื่อการคำนวณภาษีเพื่อมหาดไทยตามการประเมินได้คำนวณในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตรวมกับเงินเพิ่มภาษีสรรพสามิตจึงชอบแล้ว นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า การจัดเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยเป็นการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตเพิ่มเติมจากผู้มีหน้าที่เสียภาษี ตามพระราชบัญญัติจัดสรรเงินภาษีสรรพสามิตพ.ศ.2527 มาตรา 4 การจัดเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยจึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 เมื่อมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตเพื่อนำไปจัดสรรให้แก่กรุงเทพมหานครและราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2527 บัญญัติให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต เสียภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าหรือบริการตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละสิบของภาษี และมาตรา 139 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 บัญญัติว่า “เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มให้ถือเป็นเงินภาษี” การคำนวณภาษีเพื่อมหาดไทยในกรณีนี้จึงต้องคำนวณในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตรวมกับเงินเพิ่มภาษีสรรพสามิตที่จำเลยต้องชำระ ดังนั้น แม้การคำนวณภาษีเพื่อมหาดไทยตามหนังสือแบบแจ้งการประเมินสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฯ เลขที่ 0581 – 00248 – 01598 ระบุว่าเป็นภาษีเพื่อมหาดไทย 64,754 บาท และเงินเพิ่มภาษีเพื่อมหาดไทย 64,754 บาท สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฯ เลขที่0581 – 00248 – 01599 ระบุว่าเป็นภาษีเพื่อมหาดไทย 64,754 บาทและเงินเพิ่มภาษีเพื่อมหาดไทย 64,754 บาท และสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฯ เลขที่0109 – 00348 – 60626 ระบุว่าเป็นภาษีเพื่อมหาดไทย 65,342 บาท และเงินเพิ่มภาษีเพื่อมหาดไทย 65,342 บาท แต่เมื่อคำนวณยอดเงินรวมในส่วนที่ระบุว่าเป็นภาษีเพื่อมหาดไทยและเงินเพิ่มภาษีเพื่อมหาดไทยตามหนังสือแบบแจ้งการประเมินแต่ละฉบับดังกล่าวแล้วก็จะเท่ากับอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตรวมกับเงินเพิ่มภาษีสรรพสามิตที่จำเลยต้องชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระภาษีเพื่อมหาดไทยตามหนังสือแบบแจ้งการประเมินทั้ง 3 ฉบับ รวมเป็นเงิน 389,700 บาท ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภาษีสรรพสามิตไม่ถือเป็นภาษีสรรพสามิตที่จะนำมาเป็นฐานเรียกเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยตามพระราชบัญญัติจัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 8,478,938.07 บาท แก่โจทก์ ทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share