แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ภาษีเงินได้ที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ส่วนราชการเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายและเป็นการจ่ายให้แทนโจทก์ มิได้จ่ายให้แก่โจทก์ จึงเป็นเงินประเภทอื่นมิใช่เงินที่จำเลยและโจทก์ตกลงจ่ายให้แก่กันเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง จึงไม่ใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 50 กำหนดเป็นหน้าที่ของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน และมาตรา 50 ทวิ กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อค่าจ้างและเงินภาษีที่จำเลยยอมชำระแทนโจทก์เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) จำเลยจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราว และมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยส่วนที่ขาดพร้อมดอกเบี้ยและค่าตั๋วเครื่องบินรวมเป็นเงินจำนวน 2,614,373.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,506,409.58 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงาน และนำส่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินแก่โจทก์ไม่เกิน 40,000 บาท เมื่อโจทก์ต้องการเดินทางกลับประเทศออสเตรเลียและแจ้งให้จำเลยชำระ หากจำเลยไม่ชำระให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ถือว่าจำเลยผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานให้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า เงินภาษีที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นค่าจ้าง เห็นว่า ภาษีเงินได้ที่จำเลยนำส่งกรมสรรพากรนั้น โจทก์ในฐานะผู้มีเงินได้มีหน้าที่ชำระโดยจำเลยหักเงินดังกล่าวไว้จากค่าจ้างและนำส่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาษีเงินได้ที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ส่วนราชการเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายและเป็นการจ่ายให้แทนโจทก์ มิได้จ่ายให้แก่โจทก์ จึงเป็นเงินประเภทอื่นมิใช่เงินที่จำเลยและโจทก์ตกลงจ่ายให้แก่กันเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง จึงไม่ใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ที่จะต้องนำไปคำนวณเป็นค่าชดเชยตามมาตรา 118 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นถูกต้องแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า จำเลยต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 กำหนดเป็นหน้าที่ของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน และมาตรา 50 ทวิ กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์จ่ายค่าจ้างและยอมชำระเงินภาษีแทนโจทก์ทั้งที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ที่จำเลยมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่หักเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 50 และมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษีดังกล่าวตามมาตรา 50 ทวิ การที่จำเลยไม่ได้ให้การว่าได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางยกคำขอในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่โจทก์ตามฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง