แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้รายที่ 5 ซึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยจำนวน 1,087,902.64 บาท โดยให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 128812 และ 137866 ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ เฉพาะส่วนของจำเลยก่อน ส่วนที่ยังขาดอยู่ให้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญ หลังจากนั้นผู้ร้องได้นำผู้คัดค้านยึดที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์หลักประกันของจำเลยซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวมกับ ว. และผู้คัดค้านนำออกขายทอดตลาดได้ในราคา 940,000 บาท ซึ่งผู้คัดค้านได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน แล้วจ่ายเงินสุทธิในส่วนของจำเลยเป็นเงิน 438,291 บาท ให้แก่ผู้ร้อง และได้กันเงินในส่วนของ ว. ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมไว้จำนวน 467,650 บาท เมื่อพิจารณาตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อผู้คัดค้านขอให้จ่ายเงินที่กันไว้ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยและ ว. ได้นำทรัพย์หลักประกันที่ยึดมาจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้เงินกู้ และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยและ ว. เป็นหนี้ร่วมกันต่อผู้ร้องโดย ว. เป็นหนี้ผู้ร้องคิดถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2545 เป็นเงิน 935,291.23 บาท เมื่อทรัพย์หลักประกันเป็นของจำเลยและ ว. ที่ถือกรรมสิทธิ์รวมกันและผู้คัดค้านใช้อำนาจยึดออกขายทอดตลาดรวมกันโดยแบ่งแยกกันมิได้ ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองของผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 แม้ ว. จะไม่ได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดด้วยก็ตามแต่ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่ผู้ร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองซึ่งมีบุริมสิทธิที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์หลักประกันดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นเพื่อรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์หลักประกันที่ผู้คัดค้านยึดไว้ไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องยื่นฟ้องหรือคำร้องต่อศาลก่อน ซึ่งผู้คัดค้านสามารถส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้ ว. ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมมีโอกาสคัดค้านแล้วสอบสวนพิจารณามีคำสั่งต่อไปได้ การที่ผู้คัดค้านและศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งให้ผู้ร้องไปยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2528 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2529 ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้รายที่ 5 ยื่นคำขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) โดยมีทรัพย์หลักประกันคือที่ดินโฉนดเลขที่ 128812 และ 137866 ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง(พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยและนางวนิดา และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนวน 1,087,902.64 บาท โดยให้ได้รับจากการขายทอดตลาดหลักประกันดังกล่าวเฉพาะส่วนของจำเลยก่อน ส่วนที่ขาดให้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญ ต่อมาผู้ร้องนำผู้คัดค้านยึดหลักประกันดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้ในราคา 940,000 บาท ผู้คัดค้านทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน แล้วจ่ายเงินสุทธิให้แก่ผู้ร้องจำนวน 438,291 บาท และได้กันเงินในส่วนของนางวนิดาไว้เป็นเงิน 467,650 บาท หลังจากนั้นวันที่ 5 มิถุนายน2556 ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองทรัพย์หลักประกันของนางวนิดายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่ยกคำร้องของผู้ร้อง และมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านดำเนินการพิจารณาคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองของผู้ร้อง และมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับเงินที่ผู้คัดค้านกันไว้ให้ผู้รับจำนอง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า หลังจากขายทอดตลาดหลักประกันแล้ว ผู้คัดค้านได้จัดทำบัญชีรับ – จ่าย และจ่ายเงินส่วนได้จากการขายทอดตลาดหลักประกันในส่วนของจำเลยให้แก่ผู้ร้องไปแล้ว ส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหลักประกันในส่วนของนางวนิดา ผู้คัดค้านได้กันไว้และได้แจ้งให้ผู้ร้องไปใช้สิทธิยื่นฟ้องนางวนิดาต่อศาลที่มีอำนาจก่อนแล้วนำคำพิพากษามาแสดง จึงจะจ่ายเงินที่กันส่วนไว้แก่ผู้ร้อง แต่ผู้ร้องกลับมายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองต่อผู้คัดค้าน ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดในส่วนของนางวนิดาแก่ผู้ร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7, 287 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 คำสั่งของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมายแล้ว และขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องไปดำเนินการใช้สิทธิทางศาลต่อไป
ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งว่า พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 22 กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการเฉพาะทรัพย์ของลูกหนี้ในคดีล้มละลายเท่านั้น ดังนั้น ที่ผู้คัดค้านไม่ดำเนินการส่งมอบเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในส่วนของนางวนิดา เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้ในคดีล้มละลายให้แก่ผู้ร้องจึงชอบแล้ว หากผู้ร้องประสงค์จะใช้สิทธิของตนเหนือทรัพย์จำนองดังกล่าว ต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอใช้สิทธิดังกล่าวตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ยกคำร้องของผู้ร้องที่คัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กรณีไม่อนุญาตให้รับเงินที่ได้จากการขายทรัพย์จำนองในส่วนของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมมิใช่คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดที่ต้องด้วยข้อยกเว้นให้อุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสอง (1)ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด จึงรับพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องกรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า คำสั่งของผู้คัดค้านและของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ให้ผู้ร้องไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองในส่วนเงินที่ได้จากการขายทรัพย์จำนองของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมต่อศาลที่มีอำนาจชอบหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้รายที่ 5 ซึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยจำนวน 1,087,902.64 บาท โดยให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 128812 และ 137866 ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ เฉพาะส่วนของจำเลยก่อน ส่วนที่ยังขาดอยู่ให้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญ หลังจากนั้นผู้ร้องได้นำผู้คัดค้านยึดที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์หลักประกันของจำเลยซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวมกับนางวนิดา และผู้คัดค้านนำออกขายทอดตลาดได้ในราคา 940,000 บาท ซึ่งผู้คัดค้านได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน แล้วจ่ายเงินสุทธิในส่วนของจำเลยเป็นเงิน 438,291 บาท ให้แก่ผู้ร้อง และได้กันเงินในส่วนของนางวนิดาผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมไว้จำนวน 467,650 บาท เมื่อพิจารณาตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อผู้คัดค้านขอให้จ่ายเงินที่กันไว้ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยและนางวนิดาได้นำทรัพย์หลักประกันที่ยึดมาจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้เงินกู้ และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยและนางวนิดาเป็นหนี้ร่วมกันต่อผู้ร้องโดยนางวนิดาเป็นหนี้ผู้ร้องคิดถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2545 เป็นเงิน 935,291.23 บาท เมื่อทรัพย์หลักประกันเป็นของจำเลยและนางวนิดาที่ถือกรรมสิทธิ์รวมกันและผู้คัดค้านใช้อำนาจยึดออกขายทอดตลาดรวมกันโดยแบ่งแยกกันมิได้ ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองของผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 แม้นางวนิดาจะไม่ได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดด้วยก็ตามแต่ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่ ผู้ร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองซึ่งมีบุริมสิทธิที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์หลักประกันดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นเพื่อรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์หลักประกันที่ผู้คัดค้านยึดไว้ไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องยื่นฟ้องหรือคำร้องต่อศาลก่อน ซึ่งผู้คัดค้านสามารถส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้นางวนิดาผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมมีโอกาสคัดค้านแล้วสอบสวนพิจารณามีคำสั่งต่อไปได้ การที่ผู้คัดค้านและศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งให้ผู้ร้องไปยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ผู้คัดค้านรับคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองของผู้ร้องไว้พิจารณาและมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในชั้นนี้ให้เป็นพับ