คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12379/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะรับโอนสิทธิเรียกร้องในคดีนี้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และโจทก์ไม่จำต้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งก่อนฟ้องคดีล้มละลายก็ตาม แต่ พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการโอนสินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ หากบริษัทบริหารสินทรัพย์มอบหมายให้ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้น การโอนสิทธิเรียกร้องเป็นอันชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่ง ป.พ.พ. แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งเมื่อพิจารณาสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแล้วไม่ปรากฏว่า ในการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างธนาคาร ท. กับโจทก์ในคดีนี้ โจทก์ได้มอบหมายให้ธนาคารเป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้แต่อย่างใด การโอนสิทธิเรียกร้องจึงต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงว่าได้มีการบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยทั้งสอง เนื่องจากโจทก์เคยยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีมาแล้ว และจำเลยทั้งสองคัดค้าน ศาลจังหวัดอุบลราชธานีไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้องขอสวมสิทธิแทนโจทก์เดิม คดีถึงที่สุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2557 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรและทายาทของจำเลยที่ 2 เข้ามาแก้คดีแทน จำเลยที่ 1 ได้รับหมายเรียกโดยชอบแล้ว แต่ไม่มาศาล
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย และปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 จึงมีคำสั่งให้นายกำพล จำเลยที่ 1 เป็นผู้เข้าแก้คดีแทนจำเลยที่ 2 ผู้ตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับโอนสินทรัพย์ในคดีนี้ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และได้มีการทำสัญญาโอนสินทรัพย์ระหว่างธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ผู้โอนกับโจทก์ผู้รับโอนแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องย่อมสมบูรณ์ โจทก์ฟ้องคดีล้มละลายได้โดยไม่จำต้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะรับโอนสิทธิเรียกร้องนี้ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และโจทก์ไม่จำต้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งก่อนฟ้องคดีล้มละลายก็ตาม แต่พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการโอนสินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ หากบริษัทบริหารสินทรัพย์มอบหมายให้ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้น การโอนสิทธิเรียกร้องเป็นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ซึ่งเมื่อพิจารณาสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เอกสารท้ายฟ้องแล้วไม่ปรากฏว่า ในการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) กับโจทก์ในคดีนี้ โจทก์ได้มอบหมายให้ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้แต่อย่างใด ดังนี้ การโอนสิทธิเรียกร้องจึงต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงว่าได้มีการบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share