แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ร้องแพ้คดีโดยวินิจฉัยว่า กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญตามคำร้อง ผู้ร้องก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า ธ. ไม่มีอำนาจออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพราะเหตุที่พ้นจากตำแหน่งและไม่อาจทำหน้าที่รักษาการได้ คงกล่าวอ้างในอุทธรณ์เพียงว่า การออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญไม่ชอบเพราะไม่มีเหตุจำเป็นตามกฎหมายเท่านั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ธ. พ้นจากตำแหน่งและ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ไม่ได้บัญญัติให้ผู้จัดการนิติบุคคลที่พ้นตำแหน่งเพราะเหตุครบวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ธ. จึงไม่มีสถานะเป็นผู้จัดการและไม่อาจทำหน้าที่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้นั้น จึงเป็นการชี้ขาดตัดสินนอกเหนือไปจากข้อหาที่ปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอาคารชุดสุภาพงษ์เพลส วิสามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2556
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอาคารชุดสุภาพงษ์เพลส วิสามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2556 ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาล รวม 6,000 บาท
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า นายธนอรรถ ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดสุภาพงษ์เพลส ออกหนังสือลงวันที่ 6 มิถุนายน 2556 นัดประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมในวันที่ 7 กรกฎาคม 2556 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า นายธนอรรถพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดชุดสุภาพงษ์เพลสจึงไม่มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญทำให้การประชุมไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญโดยกล่าวอ้างว่า นายธนอรรถออกหนังสือประชุมใหญ่วิสามัญในขณะที่พ้นตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดสุภาพงษ์เพลสเป็นการไม่ชอบก็ตาม แต่ผู้คัดค้านโต้แย้งว่า แม้นายธนอรรถพ้นจากตำแหน่งแล้วยังคงทำหน้าที่รักษาการต่อไปได้ โดยข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดสุภาพงษ์เพลส ก็ระบุว่า ผู้จัดการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 2 ปี หากมิได้แต่งตั้งผู้จัดการใหม่ให้ผู้จัดการเดิมดำรงตำแหน่งต่อไปอีก 2 ปี แต่ในทางพิจารณาผู้ร้องคงนำสืบข้อเท็จจริงเพียงว่า นายธนอรรถไม่มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพราะไม่มีเหตุจำเป็นตามกฎหมาย ทั้งมิได้ส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุมใหญ่ให้แก่เจ้าของร่วมทุกคน และมีบุคคลภายนอกเข้าร่วมประชุมโดยมิได้มีการมอบอำนาจโดยถูกต้อง นอกจากนั้นการลงมติแต่งตั้งนายธนอรรถเป็นผู้จัดการไม่ชอบเพราะนายธนอรรถขาดคุณสมบัติ เป็นต้นโดยผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่านายธนอรรถไม่อาจทำหน้าที่ผู้จัดการได้เพราะพ้นหน้าที่รับผิดชอบในฐานะผู้จัดการทั้งไม่อาจทำหน้าที่รักษาการต่อไปได้เพราะเหตุใด เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ร้องแพ้คดีโดยวินิจฉัยว่า กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญตามคำร้องผู้ร้องก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่านายธนอรรถไม่มีอำนาจออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพราะเหตุที่พ้นจากตำแหน่งและไม่อาจทำหน้าที่รักษาการได้ คงกล่าวอ้างในอุทธรณ์เพียงว่าการออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญไม่ชอบเพราะไม่มีเหตุจำเป็นตามกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายธนอรรถพ้นจากตำแหน่งและพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ไม่ได้บัญญัติให้ผู้จัดการนิติบุคคลที่พ้นตำแหน่งเพราะเหตุครบวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ นายธนอรรถจึงไม่มีสถานะเป็นผู้จัดการและไม่อาจทำหน้าที่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้นั้น จึงเป็นการชี้ขาดตัดสินนอกเหนือไปจากข้อหาที่ปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 152 ประกอบมาตรา 256 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้นแต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องในข้ออื่นๆ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่ต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แล้วย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่