แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำวินิจฉัยให้ส่งตัวจำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แบบไม่ควบคุมตัว ณ โปรแกรมของสำนักงานคุมประพฤติ เป็นเวลา 6 เดือน (180 วัน) ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดและยินยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บปัสสาวะเพื่อตรวจหาสารเสพติด แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ส่งหนังสือเตือน แต่จำเลยยังคงเพิกเฉยไม่พบพนักงานเจ้าหน้าที่ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเห็นว่า ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ดังนี้ เหตุที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำสั่งให้แจ้งพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแก่จำเลย เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟู มิใช่เพราะจำเลยไม่เป็นบุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์หรือสามารถเข้ารับการฟื้นฟูได้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ติดยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด ต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 โดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 23 ซึ่งผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสมตามมาตรา 25 หากผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบ เงื่อนไขหรือข้อบังคับที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จับตัวผู้นั้นกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือควบคุมตัวได้ โดยให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขังตามมาตรา 190 แห่ง ป.อ. พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นได้ด้วยตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม ดังนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวก่อน แล้วคณะอนุกรรมการการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีสิทธิพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ และมาตรา 33 บัญญัติให้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ การที่ได้ตัวจำเลยมาหลังที่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 97 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งและนับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3465/2555 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 8 ปี 6 เดือน เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 12 ปี 9 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 4 เดือน 15 วัน ยกคำขอให้นับโทษต่อ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีปรากฏข้อเท็จจริงตามคำสั่งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ 7130/2555 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 เอกสารแนบคำฟ้องว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หลังจากนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ส่งหนังสือเตือนไปตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ แต่จำเลยยังคงเพิกเฉยไม่ไปพบพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ติดตามจับกุมจำเลยกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้ครบถ้วนเช่นนี้ ถือได้ว่ายังไม่มีการดำเนินการตามขั้นตอนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติและกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ถือว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าวไม่เป็นที่พอใจ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แต่โจทก์ฎีกาได้ความว่า จำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกและจำเลยยังอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดอื่นซึ่งเป็นความผิดมีโทษจำคุกฐานขับรถในขณะเสพเมทแอมเฟตามีนตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3465/2555 ของศาลชั้นต้น จำเลยจึงมิใช่บุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์หรือสามารถเข้ารับการฟื้นฟูตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 และมาตรา 24 ได้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงได้วินิจฉัยไปตามบทบัญญัติว่า จำเลยไม่มีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 24 และแจ้งให้จำเลยไปพบเพื่อส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าว คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงได้มีคำสั่งแจ้งพนักงานสอบสวนรับตัวผู้ต้องหาไปดำเนินคดี จึงไม่ต้องติดตามตัวจำเลยมารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอีก กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นก่อนว่า การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งให้แจ้งพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแก่จำเลยนั้น เป็นเพราะเหตุตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือตามที่โจทก์ฎีกา เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำสั่งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ 7130/2555 แล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร คณะที่ 4 มีคำวินิจฉัยให้ส่งตัวจำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แบบไม่ควบคุมตัว ณ โปรแกรมของสำนักงานคุมประพฤติ เป็นเวลา 6 เดือน (180 วัน) ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดและยินยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บปัสสาวะเพื่อตรวจหาสารเสพติด แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หลังจากนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ส่งหนังสือเตือนไปตามที่อยู่ที่แจ้งไว้แล้ว แต่จำเลยยังคงเพิกเฉยไม่พบพนักงานเจ้าหน้าที่ จากพฤติกรรมดังกล่าว คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงเห็นว่า ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ดังนี้ เมื่อพิจารณาคำสั่งเห็นได้ว่าเหตุที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร คณะที่ 4 มีคำสั่งให้แจ้งพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแก่จำเลยเนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มิใช่เพราะจำเลยไม่เป็นบุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์หรือสามารถเข้ารับการฟื้นฟูได้ดังที่โจทก์ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามคำสั่งที่ 7130/2555 เมื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ติดยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 โดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 23 ซึ่งผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสมตามมาตรา 25 หากผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบ เงื่อนไขหรือข้อบังคับที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จับตัวผู้นั้นกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวได้ โดยให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขังตามมาตรา 190 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นได้ด้วยตามมาตรา 29 วรรคหนึ่งและมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จึงมีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม ดังนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติจึงต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวก่อนแล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีสิทธิพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร คณะที่ 4 กำหนดไว้และมาตรา 33 บัญญัติให้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ การที่ได้ตัวจำเลยมาหลังที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟู พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร คณะที่ 4 อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน